นั่งเครื่องบินตรงไหนปลอดภัยสุดในภาวะที่มีโรคระบาด

นั่งเครื่องบินตรงไหนปลอดภัยสุดในภาวะที่มีโรคระบาด

ทุกวันนี้การเดินทางทั่วโลกเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ยิ่งเดินทางได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีโรคระบาด อย่างเช่นตอนนี้ที่มีทั้งการระบาดของ covid-19 และยังเป็นช่วงระบาดของไข้หวัดใหญ่ ที่ทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตราว 10,000 คนต่อปี

ถึงแม้ว่าตามสนามบินใหญ่ๆจะมีการคัดกรองผู้โดยสารเบื้องต้น รวมถึงยกเลิกเส้นทางการบินกับประเทศจีน แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% สำหรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินเป็นยานพาหนะ

แน่นอนว่าคุณอาจจะหลีกเลี่ยงคนไอหรือจามได้เวลาอยู่ในสนามบิน แต่ถ้าต้องมาอยู่ในเครื่องบินลำเดียวกันล่ะ?

 

ถ้าคุณเคยยกแขนขึ้นมาปิดหน้าแล้วจามใส่แขนหรือเดินออกไปไอในบริเวณที่ปลอดคนรอบข้าง แสดงว่าคุณรู้ถึงวิธีแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจเหล่านี้

เมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม จะเป็นการหลั่งละอองฝอยของน้ำลาย น้ำมูก และของเหลวในร่างกายออกมาจากตัวผู้ป่วย ซึ่งละอองฝอยเหล่านี้จะเต็มไปด้วยเชื้อไวรัส เมื่อเราได้รับละอองฝอยไม่ว่าจะเป็นจากการโดนโดยตรงหรือไปสัมผัสบริเวณที่ละอองฝอยเหล่านี้กระเด็นไปถึงแล้วเอามือมาสัมผัสหน้าตัวเองต่อ ก็จะทำให้เรากลายเป็นผู้ติดเชื้อได้

 

“ระยะทางและเวลาจะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของการติดเชื้อ” กล่าวโดย Emily Landon ผู้ดูแลศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัย University of Chicago Medicine

 

การระวังตัวสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่คือ ควรอยู้ให้ห่างจากผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 6 ฟุต เป็นเวลานานกว่า 10 นาที

โรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจสามารถแพร่กระจายผ่าน “พื้นผิว” ที่ละอองฝอยไปเกาะติดได้อย่างเก้าอี้ผู้โดยสารหรือสายเข็มขัด แต่ว่าเชื้อโรคจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้นานแค่ไหนบนพื้นผิวเหล่านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสองอย่างคือ ประเภทของละอองฝอยว่าเป็นน้ำลาย น้ำมูก และ ประเภทของพื้นผิวเหล่านั้น ว่ามีรูหรือไม่ รวมถึงความแห้งความชื้น เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถกำหนดเวลาที่เชื้อโรคสามารถอยู่รอดได้จากหลายชั่วโมงจนถึงหลายเดือนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าไวรัสสามารถถูกส่งผ่านด้วยอนุภาคขนาดเล็กและแห้งในอากาศได้หรือที่เรียกกันว่า Aerosols ถึงแม้ Arnold Monto ศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อจาก University of Michigan จะระบุว่า การแพร่กระจายผ่านอากาศโดยวิธีนี้จะไม่ใช่กลไกหลักของการแพร่เชื้อก็ตาม

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่าถ้าต้องนั่งเครื่องบินลำเดียวกับผู้ติดเชื้อ ควรนั่งห่างออกมาอย่างน้อยสองแถว แต่ว่าสถานการณ์จริงบนเครื่องบินนั้น ผู้โดยสารไม่ได้นั่งอยู่กับที่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าเที่ยวบินนั้นมีความยาวหลายชั่วโมง

เมื่อปี 2003 ที่มีการระบาดของโรค SARS ผู้โดยสารที่เดินทางจากฮ่องกงไปปักกิ่งสามารถทำให้ผู้โดยสารคนอื่นติดเชื้อได้ แม้จะนั่งห่างจากผู้ป่วยออกไปเกินสองแถวตามกฎของ WHO แล้วก็ตาม ดังนั้นบริเวณที่ปลอดภัยบนเครื่องบินควรคำนึงถึงการลุกเดินของผู้โดยสารด้วย

นักวิจัยจากกลุ่ม ‘FlyHealthy Research Team’ สังเกตพฤติกรรมของผู้โดยสารและลูกเรือบน 10 เที่ยวบินที่มีการบินข้ามทวีปซึ่งใช้เวลาตั้งแต่สามชั่วโมงครึ่งถึงห้าชั่วโมง โดยเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้โดยสาร การใกล้ชิดของผู้โดยสารและช่วงเวลาที่พวกเขาจะต้องใกล้ชิดกัน

ผลการศึกษาระบุว่า ในจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด จะมีผู้โดยสาร

38% ลุกออกจากที่นั่งหนึ่งครั้ง

24% ลุกออกจากที่นั่งมากกว่าหนึ่งครั้ง และ

38% ไม่ลุกออกจากที่นั่งไปไหนเลย

และยังพบว่าในบรรดาผู้ที่ลุกออกจากที่นั่ง ราวๆ 80% จะเป็นผู้โดยสารจากที่นั่งริมทางเดิน ส่วนผู้โดยสารที่นั่งริมหน้าต่างมักไม่ค่อยลุกไปไหน และเนื่องจากที่นั่งริมหน้าต่างเป็นที่นั่งด้านในที่จะใกล้ชิดกับคนอื่นน้อย ไม่มีใครเดินผ่านไปมา ทำให้ที่นั่งริมหน้าต่างเป็นที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดบนเครื่องบิน

 

จากรูป ผู้ติดเชื้อคือที่นั่งที่ถูกวงด้วยกรอบสีเหลือง สีชมพูเข้มแสดงถึงที่นั่งที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด ส่วนสีเขียวเข้มคือสีที่ปลอดภัย

 

แต่ถึงแม้ว่าจะนั่งริมทางเดินหรือนั่งตรงกลาง รวมถึงอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อตามกฎ ‘ที่นั่งสองแถว’ ของ WHO ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อน้อย จากรูปด้านล่าง เพราะผู้ติดเชื้อมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนที่นั่งห่างจากตัวเองออกไปแถวเดียวเท่านั้น

จริงอยู่ที่นั่งริมทางเดินมีโอกาสสัมผัสกับคนอื่นเยอะที่สุด เพราะมีคนเดินผ่านไปมา แต่ผู้โดยสารมักเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นช่วงเวลาที่ผู้คนต้องใกล้ชิดกันบนเครื่องบินจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ยกเว้นผู้โดยสารที่นั่งติดกันหรืออยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้ป่วย

แต่จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวถ้าลูกเรือคือผู้ติดเชื้อ เพราะลูกเรือจะเดินผ่านไปมาใกล้ชิดกับผู้โดยสารที่นั่งริมทางเดินมากที่สุด จากผลการศึกษาระบุว่าลูกเรือ 1 คนสามารถทำให้ผู้โดยสารติดเชื้อได้ 4.6 คน แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อย เพราะสายการบินจะมีกฎห้ามลูกเรือที่ป่วยทำงานบนเครื่องบินกับผู้โดยสาร

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ไม่รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อด้วยวิธี Aerosols เพราะถ้าเชื้อสามารถแพร่กระจายโดย Aerosols จะทำให้การติดต่อไปยังผู้โดยสารคนอื่นสามารถไปได้ไกลกว่าที่ระบุในแผนภาพ

นอกจากนี้ยังใช้ได้แค่กับเครื่องบินที่มีแค่ทางเดินตรงกลางแค่ทางเดียวเท่านั้น ไม่รวมถึงเครื่องบินลำใหญ่ที่มีทางเดินตรงกลางมากกว่า 1 ทาง แต่คณะวิจัยก็หวังว่าผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ได้

 

Landon กล่าวเพิ่มเติมว่าการรักษาความสะอาดนั้นสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือหรือใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อต่างๆอย่างแอลกอฮอลล์ หลังจากเอามือไปสัมผัสตามพื้นผิวต่างๆ เพราะมีหลักฐานว่า covid-19 สามารถอยู่รอดบนพื้นผิวได้นานกว่าเชื้ออื่น เป็นเวลา 3 ถึง 12 ชั่วโมง และ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ไอหรือจาม ก็จะลดโอกาสการติดเชื้อได้

 

 

 

 

References/อ้างอิง:

Visitors: 1,409,241