NFT คุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่?

NFT คุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่?

NFT คุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่? | พิเศษ เสตเสถียร
“NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token คือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่แต่ละเหรียญ (token) มีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งไม่สามารถแทนที่กันได้”

สินทรัพย์ดิจิทัลพวกที่เรารู้จักกันดีก็เป็นพวก cryptocurrency เช่น Bitcoin หรือ Ether ซึ่งเป็น Fungible Token หมายถึงสินทรัพย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนหรือแทนที่กันได้ เช่น ขอยืมเงินไปใช้ ตอนเอามาคืนไม่ต้องเป็นธนบัตรใบเก่า เป็นธนบัตรใบไหนก็ได้ ขอให้มีมูลค่าเท่ากัน

แต่สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เรียกว่า NFT นั้น แต่ละ token จะสะท้อนลักษณะเฉพาะของ token นั้น ไม่สามารถทดแทนกัน จึงมักนำเอางานศิลปะในรูปแบบดิจิทัล เช่น ดนตรี ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง มาทำเป็น NFT ซึ่งสามารถแสดงความเป็นเจ้าของ NFT ได้ และไม่สามารถถูกแก้ไข

 
 

NFT คุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่? | พิเศษ เสตเสถียร

คราวนี้เมื่อการทำ NFT เกี่ยวพันกับงานอันมีลิขสิทธิ์ในโลกแห่งความเป็นจริง หลักกฎหมายในโลกแห่งความเป็นจริงจะไปใช้ในโลกเสมือนจริง (metaverse) ได้หรือเปล่า?

เรื่องเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 เมื่อนาย Mason Rothschild ผลิตภาพ NFT ชุด “MetaBirkin” อันเป็นภาพกระเป๋าถือที่มีลวดลายและลักษณะคล้ายกับกระเป๋าถือ Birkin ของ Hermès ขึ้นเป็นจำนวน 100 กว่าภาพ และจำหน่ายบนโลกเสมือนจริง

ข้างฝ่าย Hermès เจ้าของสินค้าแบรนด์เนมเห็นว่าเป็นการเลียนแบบสินค้าชื่อ Birkin ของตน จึงได้มาฟ้องนาย Rothschild ว่าละเมิดเครื่องหมายการค้าต่อศาล Southern District of New York เมื่อเดือนมกราคม 2565

 

NFT คุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่? | พิเศษ เสตเสถียร

นอกจากนี้ เมื่อ NFT ชุด Metabirkin ออกมา Hermès ก็อยู่ในระหว่างการสร้างสินค้าดิจิทัลหลายอย่าง ซึ่งจะมีการทำเป็น NFT ในอนาคต เมื่อนาย Rothschild ทำ NFT ออกมา การทำของ Hermès ก็เลยต้องรอผลทางกฎหมายว่าที่แน่นอนเป็นอย่างไร Hermès ก็เลยต้องรอผลทางกฎหมายว่าที่แน่นอนเป็นอย่างไร

ข้างฝ่ายนาย Rothschild ต่อสู้โดยการเปรียบเทียบการใช้รูปกระเป๋าของตน กับรูปการใช้กระป๋องซุป Campbell’s ของศิลปิน Andy Warhol ในภาพซิลก์สกรีนที่มีชื่อเสียงของเขาและการใช้รูปกระเป๋าของเขา เป็นการวิจารณ์ถึงความไม่มีเหตุผลในความฟุ่มเฟือยของโลกแฟชั่น

งานของตนเป็นงานวิจารณ์ศิลปกรรม (artistic commentary) ไม่ได้เป็นการลอกเลียนแบบ ซึ่งงานวิจารณ์ศิลปกรรมได้รับความคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐ (ปัจจุบันภาพกระป๋องซุปของ Andy Warhol ตั้งแสดงอยู่ใน Museum of Modern Art ในกรุงนิวยอร์ก) แต่คณะลูกขุนในคดีนี้กลับเห็นเป็นตรงกันข้าม

คณะลูกขุนเห็นว่า NFT มิใช่งานวิจารณ์ศิลปกรรม (artistic commentary) จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

คณะลูกขุนเห็นว่า รูปกระเป๋าของนาย Rothschild ที่มีชื่อเรียกว่า MetaBirkins เป็นการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งกระเป๋า Birkin ของ Hermès ทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ จึงตัดสินให้นาย Rothschild จ่ายค่าเสียหายให้ Hermès เป็นเงิน 133,000 ดอลลาร์

ฐานละเมิดเครื่องหมายการค้า ทำให้เสื่อมค่า และเป็นการกระทำฝ่าฝืนที่เรียกว่า cybersquatting อันเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นโดยมิชอบ

หลักการสำคัญของผลแห่งคดีนี้ก็คือ หลักกฎหมายที่ใช้ในคุ้มครองในโลกเสมือนจริงไม่แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง เดิมทีมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกเสมือนจริงหรือ metaverse อาจจะมีหลักกฎหมายที่แตกต่างออกไป แต่จากคำพิพากษาของคดีนี้ หลักกฎหมายที่ใช้ในโลกทั้งสองไม่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลดังกล่าวเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งคู่กรณีก็คงจะมีการอุทธรณ์และฎีกาต่อไป

 

 

ที่มา : By พิเศษ เสตเสถียร | Tech, Law and Security
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1060512


 

Visitors: 1,429,830