กรมอนามัย แนะวิธีการใส่และทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี ย้ำต้องล้างมือทุกครั้งก่อนใส่ – หลังทิ้ง
แนะวิธีการใส่-ทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี
กรมอนามัย แนะวิธีการใส่และทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี ย้ำต้องล้างมือทุกครั้งก่อนใส่ – หลังทิ้ง แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ประชาชนยังคงต้องดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี นอกจากการหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำแล้ว หากจำเป็นต้องไปในที่มีผู้คนหนาแน่นหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะร่วมกับผู้คนจำนวนมากควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับหรือแพร่กระจายเชื้อโรคในกรณีที่เจ็บป่วย รวมถึงผู้ประกอบกิจการร้านเสริมสวย ผู้สัมผัสอาหาร ต้องใส่ใจสุขอนามัยเป็นพิเศษ หากรู้สึกมีไข้ ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และเมื่อมีไข้สูงต่อเนื่อง ควรรีบไปพบแพทย์และหยุดพักผ่อน สำหรับวิธีการเลือกหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมนั้น ให้พิจารณาด้านนอกและด้านในของหน้ากากให้ชัดเจน ต้องไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่เปรอะเปื้อนและไม่มีตำหนิ ต้องคลุมจมูกและปาก สายคล้องหูต้องไม่ฉีกขาดและต้องไม่มีส่วนใดหลุดออกจากหน้ากาก แถบปรับกระชับดั้งจมูกต้องยึดแน่นและต้องไม่หลุดออกง่ายขณะใช้ ก่อนสวมหน้ากากควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และห้ามใช้หน้ากากร่วมกับคนอื่น การใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ให้นำด้านที่ดูดซับน้ำไว้ด้านในซึ่งจะมีลักษณะพื้นผิวนุ่มกว่า เพื่อดูดซับเหงื่อ น้ำมูก น้ำลาย จากการไอจาม และนำด้านมันที่ไม่ดูดซับน้ำไว้ด้านนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด้านที่มีสีเพื่อป้องกันการซึมซับของเหลวหรือละอองจากภายนอกเข้ามา “ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วหากเกิดการฉีกขาด ใส่แล้วไม่กระชับ หรือเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายหรือเปียกน้ำ ให้เปลี่ยนใหม่ทันที ส่วนวิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ส่วนประชาชนทั่วไปให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด ที่สำคัญต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนใส่และหลังทิ้งหน้ากากอนามัยเพื่อสุขอนามัยที่ดี ซึ่งการล้างมือเป็นวิธีที่ง่ายและป้องกันโรคได้ดี โดยควรปฏิบัติอย่างถูกวิธีตาม 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ฝ่ามือถูกัน 2) ฝ่ามือถูหลังมือ และนิ้วถูซอกนิ้ว 3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและถูกซอกนิ้ว 4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6) ปลายนิ้วมือถูฝ่ามือ และ 7) ถูรอบข้อมือ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด แต่หากไม่สะดวกในการล้างมือ สามารถใช้เจลล้างมือแทน ก็จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ดีเช่นกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : https://www.thaihealth.or.th |