ไทยลงนาม BBNJ แล้ว ใช้ทะเลหลวงร่วมกับทุกประเทศ อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

ไทยลงนาม BBNJ แล้ว ใช้ทะเลหลวงร่วมกับทุกประเทศ อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

 

มหาสมุทรเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและระบบนิเวศ แต่หากใช้ประโยชน์อย่างไม่มีการควบคุมจะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง ทั้งนี้ในมหาสมุทรจะมีพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ หรือเรียกว่า ‘ทะเลหลวง’ (High Seas) ซึ่งมีทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (MGRs - Marine Genetic Resources) และระบบนิเวศที่หลากหลาย ที่เปิดให้ทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นการเดินเรือ การทำประมง หรือการวิจัยทางทะเล ควบคุมโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea : UNCLOS) ตั้งแต่ปี 2537

โดยได้กำหนดสิทธิและข้อบังคับสำหรับรัฐชายฝั่งและการใช้ทรัพยากรทะเลในพื้นที่ต่างๆ เช่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรภายในระยะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งทะเลหลวง และ The Area – พื้นที่ใต้ทะเลหลวงที่ถือเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ และควบคุมโดย International Seabed Authority (ISA) ทั้งนี้ ทะเลหลวงครอบคลุมมากกว่า 60% ของมหาสมุทรโลก แต่ยังขาดการควบคุมที่เป็นระบบ

 

ปัญหา High Seas และ The Area

ทะเลหลวงไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ หลายประเทศและบริษัทเอกชนใช้ทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ไม่มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น

- การใช้ทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (MGRs) โดยไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ หลายประเทศและบริษัทเอกชนใช้ทรัพยากรพันธุกรรมจากมหาสมุทรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพโดยไม่มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ควรเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ

- การประมงเกินขนาด (Overfishing) ทำให้เกิดการลดลงของประชากรสัตว์น้ำ การทำประมงในทะเลหลวงไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ส่งผลให้ประชากรสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว โดยสถิติระบุว่า มากกว่า 90% ของประชากรปลาขนาดใหญ่ลดลงจากการทำประมงเกินขนาด

- มลพิษทางทะเลและขยะพลาสติก ขยะพลาสติกและสารเคมีจากกิจกรรมของมนุษย์ถูกปล่อยลงสู่ทะเลหลวงโดยไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ขยะพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นกว่า 8 ล้านตันต่อปี โดยส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่ทะเลหลวงและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

- การทำเหมืองใต้ทะเล (Deep-Sea Mining) และผลกระทบต่อระบบนิเวศ การขุดเจาะทรัพยากรใต้ทะเลหลวงสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศที่เปราะบาง โดยมีการขอใบอนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลแล้วกว่า 30 โครงการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้
 

BBNJ กับการแก้ไขปัญหา

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ข้อตกลง BBNJ (Biodiversity Beyond National Jurisdiction) จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ UNCLOS เพื่อกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

โดย BBNJ เต็มช่องว่างของ UNCLOS และมุ่งเน้นการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ นอกเขตอำนาจรัฐ ภายใต้แนวคิด "มรดกร่วมกันของมนุษยชาติ"

BBNJ เพิ่มกลไกการควบคุมด้านต่างๆ ได้แก่

  • กำกับดูแลทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (MGRs) – ป้องกันการใช้ทรัพยากรโดยไม่มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม
  • กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (MPAs) – ควบคุมกิจกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
  • สร้างมาตรฐานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessments : EIA) – กำหนดให้ทุกกิจกรรมต้องมีการตรวจสอบผลกระทบ
  • ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล – เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงความรู้ด้านการอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรทางทะเล

เปิดลงนาม BBNJ ถึง 20 ก.ย. 2568

ปัจจุบัน สหประชาชาติ (United Nations) มีกำหนดเปิดให้ลงนามในข้อตกลง BBNJ ถึงวันที่ 20 กันยายน 2568 โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อมี 60 ประเทศเข้าเป็นภาคี ข้อมูลล่าสุด (ณ วันที่ 28 มีนาคม 2568) ระบุว่ามีประเทศลงนามแล้ว 112 ประเทศ และมี 21 ประเทศเข้าเป็นภาคีเต็มรูปแบบ

ไทยเดินหน้าสู่การเป็นภาคี BBNJ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติการดำเนินการตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งรวมถึงการอนุมัติการลงนามความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Agreement under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the Conservation and Sustainable Use of Marine Biological Diversity of Areas beyond National Jurisdiction: BBNJ)

และเห็นชอบการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเข้าเป็นภาคี BBNJ ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาพันธกรณีและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคี และการขอรับการสนับสนุนโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการเข้าเป็นภาคีจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

การลงนาม BBNJ ยังไม่ถือว่าไทยเป็นภาคี โดยประเทศไทยยังจะต้องแจ้งความประสงค์เข้าเป็นภาคีด้วยการยื่นสัตยาบันสารต่อเลขาธิการสหประชาชาติ 

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วม BBNJ เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางทะเลของประเทศ การเป็นภาคีจะช่วยให้ไทย เข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลเพื่อการวิจัย ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีทางทะเล พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG14

 

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1178975

 

 

Visitors: 1,515,708