วิ่งลงเท้าแบบไหน ดีที่สุด

วิ่งลงเท้าแบบไหน ดีที่สุด
 
 
 
 
พูดถึงเรื่องการลงเท้าขณะวิ่ง เชื่อว่านักวิ่งหลาย ๆ คนโดยเฉพาะมือใหม่อาจจะมีคำถามในใจว่าลงเท้าแบบไหนดีที่สุด วันนี้เราลองมาดูกันครับว่า.. การวิ่งลงส้นเท้า กลางเท้า และปลายเท้า แตกต่างกันอย่างไร วิ่งแบบไหนจะได้ผลลัพท์ได้ดีที่สุด
.
มาเริ่มกันที่ การวิ่งลงส้นเท้า (Heel Strike)
ปกติแล้วการวิ่งตามธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่จะใช้ส่วนส้นเท้าลงพื้นก่อนครับ ยิ่งถ้าเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ก็คงไม่แปลกเลย ด้วยการที่เดินหรือเดินเร็ว มันก็เป็นธรรมชาติที่จะทิ้งน้ำหนักไปที่ส้นเท้า จากนั้นฝ่าเท้าจึงลงสัมผัสกับพื้นทั้งหมด แล้วจึงใช้ปลายเท้าออกแรงส่งตัวเพื่อดันไปข้างหน้า
.
ขณะที่เราวิ่งเมื่อส้นเท้าสัมผัสพื้นจะเกิดแรงกระแทกแบบเฉียบพลันขึ้นมา ซึ่งเป็นแรงกระแทกเรียกว่า มวลของหน้าแข้ง (ไม่ใช่แรงของทั้งตัว) และหลังจากที่ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นทั้งหมด ก็จะเกิดมวลจากน้ำหนักตัวทั้งหมดตามเข้ามา ซึ่งหากไม่ได้สวมใส่รองเท้าที่มีการ support บริเวณส้นเท้าก็อาจส่งผลต่ออาการบาดเจ็บในระยะยาวได้ เช่น หัวเข่า, หน้าแข้ง (shin splints), รองช้ำ เป็นต้น ดังนั้นการวิ่งแบบลงส้นเท้า (Heel Strike) จึงเหมาะกับการวิ่งออกกำลังกายทั่วไป เน้นสุขภาพครับ
.
ปล.หากเราเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะกับการลงน้ำหนักเท้าของเราก็จะช่วย support ลดแรงกระแทกเฉียบพลันตรงนี้ไปได้ส่วนนึงครับ
.
วิ่งลงกลางเท้า (Midfoot Strike)
เพื่อน ๆ หลายคนที่วิ่งมาสักระยะแล้วอาจจะรู้สึกว่าการที่เราสามารถ support แรงตรงนี้ได้ด้วยตัวเองอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะอาจจะไปเน้นรองเท้าที่มีการ support น้อยลงเพื่อไปเพิ่มประสิทธิภาพของการทำความเร็วมากขึ้น จึงเลือกลงน้ำหนักตัวด้วยการวิ่งลงกลางเท้าหรือฝ่าเท้า
.
การทิ้งน้ำหนักในลักษณะนี้คือ.. เท้าของเราจะสัมผัสพื้นพร้อมกันแล้วจึงใช้ปลายเท้าดันเหมือนถีบตัวไปข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าท่านี้สามารถลดแรงกระแทกและการถ่ายโอนน้ำหนักขณะลงพื้นได้ดีกว่าวิ่งลงส้นเท้า แถมประหยัดพลังงานมากกว่าด้วย ... การวิ่งลงฝ่าเท้าถึงแม้จะลดผลกระทบต่อเข่ามากกว่าการลงส้น แต่ก็ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกที่มากกว่า ดังนั้นควรที่จะต้องฝึกฝนเเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวให้แข็งแรงด้วยนะครับ
.
วิ่งลงปลายเท้า (Forefoot Strike)
 
เมื่อพูดถึงด้านความเร็วแล้ว ปกติคนเราจะวิ่งลงน้ำหนักด้วยปลายเท้าโดยไม่รู้ตัวเพราะเท้าของมนุษย์ออกแบบวิ่งด้วยปลายเท้า ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าจึงสามารถรับแรงจากการกระแทกพื้นได้ดีกว่า .. การวิ่งแบบลงน้ำหนักด้วยปลายเท้าหรือ Forefoot Strike คือการวิ่งโดยใช้ปลายเท้าเป็นจุดถ่ายแรงสู่พื้น แล้วส้นเท้าจึงลดลงมาสัมผัสกับพื้นทั้งหมด ก่อนออกแรงส่งตัวไปข้างหน้าด้วยปลายเท้าอีกครั้ง ท่านี้ตรวจพบแรงกระแทกเพียงครั้งเดียวเมื่อฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นทั้งหมด
.
ถึงแม้ว่าการวิ่งลงปลายเท้าจะใช้แรงน้อยกว่าวิ่งแบบส้นเท้า แต่เรื่องระยะทางหรือวิ่งทางไกลอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีหนัก เพราะการวิ่งลักษณะนี้จะเหมาะกับนักวิ่งระยะสั้น, นักวิ่งทำความเร็ว หรือขณะลงคอร์ท มากกว่า
.
สำหรับท่าทางการลงเท้าในการวิ่งทั้ง 3 แบบนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผู้รักการวิ่งทั้งหลายก็ควรฝึกไว้เพื่อเลือกใช้งานตามความเหมาะสม หลายคนอาจจะเร่งรีบปรับเปลี่ยนฟอร์มวิ่งทันทีโดยไม่คำนึงถึงภาพรวมจนทำให้เจ็บมากกว่าเดิม เพราะนักวิ่งส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญของการลงเท้า ไม่ว่าจะวิ่งลงส้นเท้า กลางเท้า หรือปลายเท้า หากเราไม่รู้ทักษะการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องก็สามารถทำให้เราบาดเจ็บได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปโฟกัสแค่ตำแหน่งของการลงน้ำหนักเท้าอย่างเดียว เพราะลักษณะการลงเท้าจริง ๆ ต้องสัมพันธ์กับหน้าแข้งด้วย
.
สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ครับว่า.. ไม่มีทักษะไหนที่ดีที่สุดถูกต้องที่สุด มีแต่ทักษะไหนเหมาะกับเราที่สุด อยู่ที่ว่าเราจะนำไปใช้ฝึกฝนอย่างไรให้ถูกวิธี การบาดเจ็บจากการวิ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเราหมั่นสังเกตตัวเองและปรับฟอร์มการวิ่งให้เหมาะก็จะช่วยลดปัญหาอาการบาดเจ็บต่าง ๆ ลงไปได้ครับ
.
 
 
 
Visitors: 1,217,100