1 กรกฎาคม วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ ทำไมเด็กไทยยังต้องใส่ชุดลูกเสือ?
1 กรกฎาคม "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ทำไมเด็กไทยยังต้องใส่ชุดลูกเสือ?1 กรกฎาคม "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ชวนย้อนรอยประวัติต้นกำเนิด "ลูกเสือ-เนตรนารี" ในประเทศไทย พร้อมส่องกระแสสังคมในประเด็นชุดลูกเสือ หลายคนตั้งคำถามในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ชุดเครื่องแบบราคาแพงยังจำเป็นไหม? เนื่องใน "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ที่ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี ชวนทุกคนย้อนรอยต้นกำเนิดลูกเสือในประเทศไทยว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร? พร้อมส่องประเด็นล่าสุด.. กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้การสนับสนุนช่วยเหลือจัดหา "ชุดลูกเสือ" ให้เด็กที่ขาดแคลน 1. "ชุดลูกเสือ" มหาดไทย ชี้ เด็กไทยยังต้องสวมใส่ จากกรณีที่ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การแต่งเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี โดยเห็นว่า การแต่งกายด้วยชุดลูกเสือและเนตรนารี เป็นการปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นลูกเสือและเนตรนารี อีกทั้งเป็นเครื่องแบบพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาแห่งกิจการลูกเสือไทย ดังนั้นการสวมใส่ "ชุดลูกเสือ" จึงเป็นประโยชน์ต่อการปลูกฝังอุดมการณ์ลูกเสือ และหากผู้ปกครองรายใดมีฐานะยากจนขัดสน ไม่สามารถดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือและเนตรนารีให้แก่บุตรได้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้การสนับสนุนช่วยเหลือ หากเกินความสามารถของจังหวัด ขอให้แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบ ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หากเป็นคำสั่งก็ต้องทำ เห็นด้วยว่าเรื่องนี้อย่าให้เป็นภาระประชาชน เบื้องต้นเข้าใจว่าทาง กทม. มีชุดนักเรียนฟรีให้อยู่ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการ แต่ชุดลูกเสือและเนตรนารียังไม่มีรายละเอียด คิดว่าน่าจะแพงกว่าปกติ เพราะมีอุปกรณ์เยอะกว่า “ต้องดูว่าจะปรับรูปแบบได้อย่างไร ให้ง่ายขึ้นได้ไหม หรือหากต้องเป็นแบบนี้ มีคำสั่งมา เป็นนโยบายต้องทำตาม แต่ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายคงต้องดูงบประมาณ อย่างที่บอกถ้าเป็นคำสั่งน่าจะมีงบประมาณมาให้เราด้วย” นายชัชชาติกล่าว
2. เปิดประวัติ "วันลูกเสือ" ครั้งแรกในโลก "ลูกเสือ" ได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมกำลังพลไว้เป็นทหาร ในปี พ.ศ. 2451 ลอร์ด บาเดน เพาเวลล์ ได้แต่งหนังสือคู่มือการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า Scouting For Boys และคำว่า “Scout” จึงใช้เป็นคำเรียกผู้ที่เป็นลูกเสือ ซึ่งแต่ละตัวอักษรมีความหมายแฝงไว้ คือ
ในปีเดียวกันนี้เอง ประเทศอังกฤษได้มีการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นกองแรก ซึ่งกิจการลูกเสือได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว จนต่อมาในปี พ.ศ. 2452 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงรับอุปภัมภก เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเห็นความสำคัญและประโยชน์ของลูกเสือ จึงได้ก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นประเทศที่ 2 ของโลก
3. เปิดประวัติ "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ในไทย ต้นกำเนิด "ลูกเสือ" ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษา "เมืองมาฟิคิง" ของ พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) ที่มีการตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในสงครามบัวร์ เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสทำประโยชน์อันยอดเยี่ยมให้แก่ชาติไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองเสือป่า" ขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของเสือป่าในโรงเรียนต่างๆ ด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือฉบับแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงถือเป็นวันจัดตั้ง "ลูกเสือ" ขึ้นในประเทศไทย และนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา 4. รู้จักกฎของลูกเสือ 10 ประการ "ลูกเสือ" กลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ สำหรับการผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด ได้แก่
5. ลูกเสือกองแรกของไทย คือ “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1” ลูกเสือกองแรกของไทยตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกว่า “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1” ต่อมาขยายตัวออกไปจัดตั้งที่โรงเรียนอื่นๆ ด้วย ตามแต่สภากรรมการ "คณะลูกเสือแห่งชาติ" จะเห็นสมควร เด็กที่จะเป็นลูกเสือจะต้องทำพิธีเข้าประจำกอง และกล่าวคำปฏิญาณตนตามคำมั่นสัญญา ในสมัยนั้นกิจการลูกเสือไทยเลื่องลือไปยังนานาชาติว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง” ถึงขนาดว่ากองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามลูกเสือกองนี้ว่า “กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ โดยเอกลักษณ์ของลูกเสือกองนี้ จะติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อทั้งสองข้าง 6. ชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรกในสมัย ร.7 เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 7 ก็ทรงสืบสานกิจการลูกเสือต่อเนื่องมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นครั้งแรก ในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อ พ.ศ. 2470 จากนั้นได้จัดให้มีการอบรมลูกเสืออีกหลายรุ่นกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2475 เป็นปีสุดท้าย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว กิจการลูกเสือได้รับการปรับปรุงใหม่ ถูกเกณฑ์ไปช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่ข้าราชการทหาร ในการปราบจราจล รัฐบาลจึงจัดตั้งหน่วยยุวชนทหารฝึกวิชาทหารขึ้น โดยรับเด็กที่ได้เป็นลูกเสือมาแล้ว จากนั้นกองลูกเสือก็ซบเซาลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ฟื้นฟูกิจการลูกเสืออีกครั้ง มีการจัดชุมนุมของลูกเสือแห่งชาติ ส่งเจ้าหน้าที่ในกองการลูกเสือไปเข้ารับการฝึกอบรมวิชาลูกเสือตามมาตรฐานสากล และตามแบบนานาประเทศตามลำดับ และสืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน -----------------------------------------
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
|