ไขปริศนาทำไม สตรอว์เบอร์รี ถึงไม่ใช่เบอร์รี แต่ กล้วย กลับเป็นเบอร์รี

ไขปริศนาทำไม "สตรอว์เบอร์รี" ถึงไม่ใช่เบอร์รี แต่ "กล้วย" กลับเป็นเบอร์รี

ไขปริศนาทำไม "สตรอว์เบอร์รี" ถึงไม่ใช่เบอร์รี แต่ "กล้วย" กลับเป็นเบอร์รี

หาดูจากชื่อเรียกแล้ว คงไม่แปลกใคร ๆ จะเข้าใจว่า “สตรอว์เบอร์รี” “ราสป์เบอร์รี” “แบล็กเบอร์รี” นั้นจะต้องเป็นพืชในจำพวกแน่นอน “เบอร์รี” แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะในทางพฤกษศาสตร์นั้น เบอร์รีถือเป็นผลไม้ที่เนื้อและเมล็ดเกิดขึ้นจากรังไข่เดียว มีเมล็ดตั้งแต่ 2 เมล็ดขึ้นไป และมี 3 ส่วนประกอบ คือผิวด้านนอก (เปลือก) ผิวชั้นกลาง (เนื้อ) และผิวชั้นในสุด (หุ้มเมล็ด) ซึ่งทั้งสตรอว์เบอร์รี ราสป์เบอร์รี และ แบล็กเบอร์รีไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้น

ความสับสนในการเรียกชื่อนี้มาจากคนสมัยก่อนเรียก ผลไม้ลูกเล็ก ๆ กลม ๆ สีสันสดใส ที่มีรสเปรี้ยวหรือหวานก็ว่า “เบอร์รี” ทั้งหมด โดย จูดี เจิร์นสเต็ดต์ (Judy Jernstedt) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าวว่า “คนเรียกผลไม้เหล่านี้ว่าเบอร์รีกันมาเป็นพัน ๆ ปี ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มให้แบ่งการจำแนกประเภทเสียอีก เพราะการจำแนกจัดทำอนุกรมวิธานพันธุ์พืชนั้นทำได้ยากและซับซ้อน”

ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสนไปมากกว่านี้ เบอร์รีตามหลักพฤกษศาสตร์ จึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “เบอร์รีแท้” (True Berry)

โครงสร้างของผลเบอร์รีตามหลักพฤกษศาสตร์ หรือ เบอร์รีแท้นี้ ยังพบได้ใน “กล้วย” และ “แตงโม” แม้ว่าเปลือกของกล้วยและแตงโมจะแข็งกว่าผลไม้เบอร์รีอื่น จนไม่สามารถรับประทานทั้งเปลือกได้ก็ตาม เช่นเดียวกับ มะเขือเทศ พริก แครนเบอร์รี มะเขือม่วง และกีวี ที่มีเนื้อและเมล็ดเกิดขึ้นจากรังไข่เดียวเช่นกัน 

แล้วมีผลไม้ที่มีชื่อเรียกลงท้ายเบอร์รี เป็นเบอร์รีแท้ ๆ หรือเปล่า คำตอบก็คือ มี ผลไม้ชนิดนั้นคือ “บลูเบอร์รี” นั่นเอง

อันที่จริง “เชอร์รี” เกือบจะเข้าข่ายเป็นเบอร์รีแท้แล้ว เพียงแต่เชอร์รีมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว ทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผลเมล็ดเดียวแข็ง หรือ ดรูป (Drupe) ร่วมกับ มะม่วง พีช เงาะ และลูกมะกอกแทน 

ขณะที่ ราสป์เบอร์รี และ แบล็กเบอร์รี นั้นเป็นผลกลุ่ม (Aggregate fruit) ซึ่ง เจิร์นสเต็ดต์ อธิบายว่า “ราสป์เบอร์รีมีลักษณะเหมือนมีผลเล็ก ๆ หลายลูกรวมตัวกันอยู่ ซึ่งเนื้อเล็ก ๆ เหล่านั้นเกิดจากรังไข่แต่ละใบ ซึ่งคือดรูปขนาดเล็กแล้วมารวมกันกลายเป็นผลเดียว” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมราสป์เบอร์รีและแบล็กเบอร์รีป่าถึงมีความกรุบกรอบ

เช่นเดียวกับสตรอว์เบอร์รี ที่จัดอยู่ในประเภทผลกลุ่ม เพราะมีรังไข่มากกว่า 1 ใบในดอกเดียว ทำให้เกิดผลรวม ซึ่งส่วนแดง ๆ ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ส่วนผลของสตรอว์เบอร์รี แต่เป็นส่วนของฐานรองดอก ส่วนผลจริง ๆ นั้นคือสีเหลืองเล็ก ๆ ที่อยู่ทั่วเนื้อสีแดง (ซึ่งเรามักเข้าใจว่านั่นคือเมล็ด) ส่วนเมล็ดนั้นอยู่ในผลอีกที

พืชตระกูลส้ม ไม่ว่าจะเป็นส้ม เกรปฟรุต มะนาว เลมอน ก็จัดว่าเป็นเบอร์รีด้วยเช่นกัน โดยเรียกว่า “เฮสเพอริเดียม” (Hesperidium) เนื่องจากมีเนื้อสามชั้น มีเมล็ดตั้งแต่สองเมล็ดขึ้นไป และพัฒนาจากดอกเดียวที่มีรังไข่หนึ่งอันตรงตามคุณสมบัติของเบอร์รี แต่ที่ต้องมีชื่อเรียกเฉพาะ เนื่องจากเปลือกของพืชตระกูลส้ม มีส่วนประกอบที่แตกต่างออกไปจากเบอร์รีชนิดอื่น คือ มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ทั่วผิวเปลือก หรือ ฟลาวิโด (flavedo) ซึ่งมีรสขม ทำให้ไม่สามารถรับประทานทั้งเปลือกได้

เจิร์นสเต็ดต์ ยอมรับว่า การแบ่งประเภทผลไม้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวาย “นักวิทยาศาสตร์รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน เราพยายามจัดลำดับการจำแนกผลไม้มาหลายศตวรรษแล้ว ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้คงยังไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววันนี้”

อีกนัยหนึ่ง คงเป็นเรื่องยากที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถจำแนกและทำความเข้าใจถึงผลไม้ที่มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติมายาวนาน แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลไม้เหล่านั้นจะเป็นเบอร์รีหรือไม่ เมื่อขึ้นชื่อว่าผลไม้ย่อมมีประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่แตกต่างกันไป และล้วนจำเป็นต่อร่างกายทั้งสิ้น

 

ที่มา: Live ScienceMcGillSCRIBD

กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ
By กฤตพล สุธีภัทรกุล
กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1013234

Visitors: 1,429,829