ย้อนตำนาน กลุ่มดาวคนคู่ ดวงดาวแห่งฤดูใบไม้ผลิ และ ฝนดาวตกเจมินิดส์

ใกล้สิ้นปีทีไรนักดูดาวและช่างภาพสายดาวทั้งหลายต่างใจจดใจจ่อกับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งมีศูนย์กลางการกระจายอยู่ที่ กลุ่มดาวคนคู่ พี่น้องฝาแฝด พอลลักซ์ กับ คาสเตอร์ ตามตำนานเทพปกรณัมกรีก ฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุกปี ดังนั้นเพื่อความสนุกในการรับชม Sarakadee Lite จึงขอพาไปรู้จักตำนาน กลุ่มดาวคนคู่ หนึ่งใน 88 กลุ่มดาวสากลของโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศีที่หลายคนรู้จักดีในชื่อ กลุ่มดาวราศีเมถุน

 

 

กลุ่มดาวคนคู่ หรือ Gemini เป็นสัญลักษณ์ของราศีเมถุนและถือเป็นกลุ่มดาวแห่งฤดูใบไม้ผลิ มองเห็นได้ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ในอดีตกลุ่มดาวคนคู่เป็นที่เคารพนับถือของนักเดินเรือ เพราะเชื่อกันว่าเป็นผู้ปกป้องนักเดินเรือจากการคุกคามของโจรสลัด นักเดินเรือที่อยู่ในซีกโลกด้านใต้จะเห็นกลุ่มดาวคนคู่ปรากฏอยู่เหนือกลุ่มดาวโบราณกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเรือที่ใช้เป็นพาหนะเดินทางไปค้นหาขนแกะทองคำ และกลุ่มดาวคนคู่ก็ทำหน้าที่ปกป้องเรือลำนี้ตลอดการเดินทาง นอกจากตำนานเทพโรมันแล้วชาวโรมันบางกลุ่มยังเชื่อว่า พอลลักซ์และคาสเตอร์ คือ รีมุส และ โรมุรุส ผู้สร้างกรุงโรมเมื่อ 753 ปี ก่อนคริสตกาล

 

 

วิธีการหาตำแหน่ง กลุ่มดาวคนคู่ นั้นไม่ยาก เพราะ กลุ่มดาวคนคู่ จะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มดาวนายพราน รูปร่างของกลุ่มดาวคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยมีดาวฤกษ์สองดวงสว่างอยู่เคียงคู่กัน กลายเป็นจุดสังเกตและเป็นที่มาของชื่อ ดาวคนคู่ หรือ ดาวคู่แฝด ซึ่งดวงหนึ่งมีชื่อว่า พอลลักซ์ (Pollux) แฝดคนซ้าย อีกดวงชื่อ  คาสเตอร์ (Castor) แฝดคนขวา อยู่ห่างกันประมาณ 5 องศาบนท้องฟ้า และเท้าของกลุ่มดาวคนคู่จะชี้ไปทางศีรษะของนายพราน

พอลลักซ์ เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับ 17 ของท้องฟ้า ลักษณะดาวมีสีเหลืองทอง และมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 4 เท่า ส่วน คาสเตอร์ สว่างติดอันดับที่ 23 และมีสีขาว ดาวทั้งสองอยู่ในตำแหน่งศีรษะของคนคู่ และถือเป็นจุดสังเกตสำหรับนักดูดาว

 

 

ตามตำนานโรมันเล่าว่า พอลลักซ์และคาสเตอร์ เป็นพี่น้องต่างบิดา ทั้งสองรักกันมากและไม่เคยแยกจากกันยกเว้นเหตุผลของความความตาย คาสเตอร์ เป็นลูกมนุษย์ที่มีอายุขัยจำกัด ส่วนพอลลักซ์เป็นลูกของเทพเจ้าจูปิเตอร์ หรือ เทพซีอุสของชาวกรีก ที่มีชีวิตเป็นอมตะ

วันหนึ่งเมื่อคาสเตอร์ ถึงแก่ความตาย พอลลักซ์เศร้าเสียใจมากจึงไปอ่อนวอนเทพซีอุสขอให้เขาตายตามไปด้วย แต่เทพซีอุสกลับช่วยเหลือได้แค่ยอมให้พอลลักซ์ไปหาคาสเตอร์ได้ในโลกแห่งความตายเพียงชั่วคราวเท่านั้น และต้องกลับมาอยู่ในดินแดนแห่งทวยเทพดังเดิม ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของเหตุผลว่าทำไมเมื่อดาวฤกษ์คาสเตอร์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศแห่งความตาย เป็นทิศแห่งดินแดนยมโลก จากนั้นไม่นานเราจะได้เห็นดาวฤกษ์พอลลักซ์ลับขอบฟ้าตามกันไปด้วย

 

 

และเมื่อดาวคาสเตอร์ ขึ้นทางทิศตะวันออก อีกไม่นานเราจะได้เห็นดาวพอลลักซ์ติดตามมาอยู่เคียงข้างเสมอ แต่ก็มีบางตำนานที่เล่าว่าหลังจากที่พอลลักซ์ไปขอร้องเทพเจ้าจูปิเตอร์  เทพเจ้าก็เห็นใจและบอกว่าจะทำให้คาสเตอร์คืนชีพและมีชีวิตเป็นอมตะ แต่มีข้อแม้ว่าในระหว่างที่คนหนึ่งอยู่บนโลก อีกคนต้องอยู่ในยมโลกสลับกันคนละ 6 เดือน

กลุ่มดาวคนคู่ไม่ได้มีแค่ พอลลักซ์กับคาสเตอร์ ทว่ายังประกอบด้วยอีก 6 ดวงดาวหลักแทนตำแหน่งลำตัว และแขน ขา ได้แก่  อัลเฮนา (Alhena) ดาวสีน้ำเงิน เมบซูทา (Mebsuta) ดาวสีเหลือง โพรพุส (Propus) ดาวแปรแสง อัลซิร์ (Alzir) ดาวฤกษ์ วาแซท (Wasat) ดาวฤกษ์ในระบบดาวพหุ และ เมกบูดา (Mekbuda) ดาวดวงใหญ่สีเหลือง

ทั้งนี้ในส่วนของคาสเตอร์เองก็ไม่ใช่ดาวฤกษ์ดวงเดียว แต่ยังเป็นดาวฤกษ์ที่มีความซับซ้อนมากๆ เพราะเป็นระบบดาวฤกษ์โคจรรอบกันถึง 6 ดวง อีกทั้งกลุ่มดาวคนคู่ยังมี กระจุกดาว M-35 เป็นกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่สวยมากๆ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าบริเวณส่วนขาของคาสเตอร์ ประกอบด้วยกลุ่มดาวประมาณ 120 ดวง อีกทั้งใน กลุ่มดาวคนคู่ ยังมีซากการระเบิดของซูเปอร์โนวาในอดีตที่ชื่อ IC 443 ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กลุ่มดาวคนคู่จะเป็นกลุ่มดาวที่นักดาราศาสตร์หลายคนหลงรักและสนใจศึกษา


ข้อมูลจาก : นิตยสาร สารคดี พฤษภาคม 2542
ภาพและข้อมูลฝนดาวตกเจมินิดส์ : facebook.com/NARITpage

Visitors: 1,215,875