การศึกษาใหม่ชี้ สูดดม PM2.5 ในระยะยาว เสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม

การศึกษาใหม่ชี้ สูดดม PM2.5 ในระยะยาว เสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม

จากเหตุการณ์ไฟป่าลุกไหม้ฉับพลันและรุนแรง ณ เกาะเมาวี รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2023 ผลกระทบไม่ได้หยุดลงเมื่อไฟป่ามอดดับ แต่กลับหลงเหลือทิ้งไว้กลายเป็นมลภาวะทางอากาศ ในบางกรณี มลพิษได้แพร่กระจายออกไปไกลกว่าจุดที่เกิดเหตุไฟไหม้ ควันไฟปกคลุมพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ไปจนกระทั่งถึงนอร์เวย์

ไม่เพียงแค่อเมริกา ทว่าในหลายภูมิภาคทั่วโลกแม้แต่ประเทศไทยเรา ต่างประสบกับปัญหาไฟป่าทุกๆ ปี นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีเราต่างสูดดมควันพิษในปริมาณมากแทบจะตลอดเวลา แถมยังมีช่วงที่ต้องสูดดมมากเป็นพิเศษอีก

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine ล่าสุด พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศในปริมาณสูง มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไฟป่านั้นมีความเชื่อมโยงกับการทำการเกษตรมากที่สุด

งานวิจัยนี้ได้วิจัยจากฝุ่นละอองอย่าง PM2.5 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์อย่างน้อย 30 เท่า ตามรายงานของ Environmental Protection Agency (EPA) กล่าวว่า PM2.5 เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดมลภาวะต่างๆ เช่น ไซต์ก่อสร้าง ปล่องไฟ และไฟป่า นอกจากนี้ ยังสามารถก่อตัวขึ้นในชั้นบรรยากาศจากปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าและรถยนต์

ตามรายงานของ EPA การสัมผัส PM2.5 เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพในมนุษย์จำนวนมาก รวมถึงอาการหัวใจวาย โรคหอบหืด การทำงานของปอดลดลง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด แถมยังเชื่อมโยงกับมะเร็งปอดและการเสียชีวิตจากมะเร็งต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ การศึกษาอื่นๆ อีกหลายชิ้นยังเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศกับภาวะสมองเสื่อม

มีการศึกษาใหม่ตรวจสอบข้อมูลที่รวบรวมตั้งแต่ปี 1998-2016 ระหว่างการสำรวจตัวแทนทั่วประเทศเพื่อติดตามผลการสัมผัส PM2.5 ซึ่งนักวิจัยเจาะจงไปที่คนจำนวน 27,857 คน ที่มีอายุเกิน 50 ปี ซึ่งไม่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่แรก

พบว่า ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เข้าร่วมเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นในระหว่างการสำรวจ และสิ่งนี้เชื่อมโยงกับระดับการสัมผัส PM2.5 ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแหล่งกำเนิดคือไฟป่าหรือการเกษตร

เนื่องจากการเกษตรใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นสารพิษมีผลต่อระบบประสาท และอาจส่งผลต่อสมอง และไฟป่าที่เคลื่อนผ่านพื้นที่เหล่านั้นได้เผาไหม้ยานพาหนะ พลาสติก พื้นผิวที่มีการทาสี และขยะอันตราย ซึ่งสร้างอนุภาคพิษที่สามารถสูดดมเข้าไปได้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจถึงกลไกที่แน่ชัดว่า PM2.5 มีผลต่อความเสี่ยงให้เกิดภาวะสมองเสื่อมโดยตรงอย่างไรบ้าง นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่พวกเขาต้องศึกษากันต่อในระยะยาว

อ้างอิง

 

ที่มา : https://www.brandthink.me/content/pm2-5

 

Visitors: 1,229,060