ทำไมการปลูกถ่ายไตหมู ในมนุษย์ได้สำเร็จ ถึงเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดของปีนี้

ทำไมการปลูกถ่าย ‘ไตหมู’ ในมนุษย์ได้สำเร็จ ถึงเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดของปีนี้



ในปี 2021 มนุษย์มักจะสนใจเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ไปจนถึงพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี mRNA สร้างวัคซีนโรคอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยผลิตวัคซีนได้มาก่อน

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมที่ ‘ล้ำ’ขั้นสุด

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีน่าตื่นเต้นจริงๆ ที่เชื่อมโยงกับการตัดต่อพันธุกรรมนั้นไม่ใช่อะไรเหล่านี้ แต่เป็นความสำเร็จของการปลูกถ่ายอวัยวะภายในของสัตว์ที่ตัดต่อพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จ โดยที่ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ปฏิเสธ

ความสำเร็จที่ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเกิดในเดือนตุลาคม 2021 ทีมแพทย์สามารถทดลองปลูกถ่าย ‘ไตหมู’ ซึ่งตัดต่อพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยที่ ‘สมองตาย’ ได้สำเร็จ หลังจากที่ทีมเฝ้าดู และทีมเดิมก็ ‘ทดลอง’ อีกครั้งกับผู้ป่วยที่ ‘ตายแล้วในทางการแพทย์’ (คือสมองไม่ทำงานแล้ว และจะหัวใจหยุดเต้นถ้าถอดเครื่องพยุงชีวิตออก) ได้สำเร็จอีกรอบในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

พูดง่ายๆ แม้ยังไม่ได้ปลูกถ่ายกับคนจริงๆ แต่แค่นี้ก็น่าตื่นเต้นสุดๆ แล้ว

โรคไตชื่อเต็มๆ คือ ‘โรคไตเรื้อรัง’ แบ่งเป็น 5 ขั้น โดยแต่ละขั้นก็ตามสเต็ปการทำงานของไตที่เสื่อมลง ซึ่งขั้นที่ไตเสื่อมถึงขั้นทำงานไม่ปกติที่เขาเรียกว่า ‘ไตวาย’ ก็คือขั้นที่ 5 และถ้ามาถึงขั้นนี้ ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้ก็คือต้อง ‘ฟอกไต’ ไปตลอด ไม่ก็ต้องรอปลูกถ่ายไตอย่างที่เล่ามาข้างต้น

บางคนอาจมองว่ามีตั้ง 5 ขั้น ถ้ารู้ตัวตั้งแต่แรกๆ แล้วรักษา ไม่ทันเหรอ? นี่แหละคือความน่ากลัว ไตคืออวัยวะที่แทบไม่มีความสามารถในการฟื้นตัวเลย พังแล้วพังเลย มีแต่จะแย่ลง ถ้าเป็นโรคไตขั้น 1 ก็จะไม่มีทางจะหาย แต่เขาจะหาทางพยุงเพื่อให้ไปถึงขั้น 5 อย่างช้าที่สุด เพราะโดยทั่วไปไม่มีใครสนุกกับการฟอกไตแน่ๆ

ถามว่าทำไมเป็นเรื่องใหญ่ในทางสาธารณสุข คำตอบคือ ทุกวันนี้มนุษย์รับสารเคมีเข้าร่างกายมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกยาหรือสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สารเคมีใดๆ ที่เข้าร่างกายก็จะมีสองอวัยวะที่ใช้จัดการคือตับกับไต (สารอะไรที่ละลายในไขมัน ตับก็มีหน้าที่จัดการ ส่วนสารอะไรละลายในน้ำ ไตก็มีหน้าที่จัดการ) ซึ่งตับเป็นอวัยวะที่อัตราฟื้นตัวสูงสุดในร่างกาย โดยทั่วไปจึงไม่เป็นอะไร แต่ไตนี่แทบจะตรงกันข้ามคือแทบฟื้นตัวไม่ได้เลย พังแล้วพังเลย ดังนั้นโดยพื้นฐานคนจึงมีปัญหาไตมากว่าตับ และรอรับการปลูกถ่ายไตมากกว่าตับอย่างมหาศาล

และปัญหานี้ก็ดูจะขยายตัวไปเรื่อยๆ ในสังคมผู้สูงอายุ ที่คนทั้งอายุยืนขึ้น ต้องกินยากันเยอะขึ้น ทำให้คนเป็นโรคไตเยอะขึ้นตามมาตาม ‘อายุการใช้งาน’ ของไต ที่เสื่อมไปตามกาลเวลา พูดง่ายๆ คือสมัยก่อนที่คนอายุสั้นๆ ก็ไม่ได้ต้องการปลูกถ่ายไตเท่าไร เพราะมักจะตายก่อนแก่จากโรคไตวายนั่นเอง

นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมการปลูกถ่าย ‘ไตหมู’ เข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จ จึงเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งแห่งปี 2021

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? และทำไมต้องเป็นไต?

หลายคนอาจไม่รู้ แต่ไตคืออวัยวะที่มีการปลูกถ่ายมากที่สุดในโลก มีความต้องการมากที่สุด ดังนั้นเราเลยได้ยินมุกเรื่อง 'ขายไตซื้อไอโฟน' กันบ่อยๆ ในอเมริกาลิสต์ของผู้ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละปีมีประมาณ 1 แสนกว่าคน แบ่งเป็นคนต้องการไตประมาณ 9 หมื่นคน ต้องการตับประมาณ 1 หมื่นคน ต้องการหัวใจเกือบ 2 พันคน ส่วนอวัยวะอื่นๆ ก็แทบจะหลักร้อยเท่านั้น

บางอวัยวะแทบไม่มีปัญหาในคิวปลูกถ่ายเลย เพราะคนต้องการน้อยและได้รับบริจาคมาเกินตลอด เช่น หัวใจ จึงไม่มีปัญหาเท่าไร แต่ไตนี่เรียกได้ว่าหายนะมาก เพราะปีหนึ่งคนต้องการไตเยอะกว่าจำนวนการบริจาคมาก อธิบายง่ายๆ คือ ในอเมริกาแต่ละปีสามารถปลูกถ่ายไตได้แค่ 2 หมื่นกว่าไตเท่านั้น ขณะที่คนต้องการปลูกถ่ายไตมีปีละประมาณ 8 หมื่นคน และนี่คือเหตุผลว่าทำไม ‘ตลาดค้าอวัยวะเถื่อน’ ถึงต้องการไตนักหนาจนคนแห่มาขายในตลาดมืด (ถ้าสงสัยตัวเลขของไทย คำตอบคือ ไทยปลูกถ่ายไตได้ปีละประมาณ 400 ไต ในขณะที่มีคนรอปลูกถ่ายปีละ 5,000 คน)

ดังนั้น ถ้าจะมีอวัยวะสักอย่างที่มนุษย์ต้องการ ‘สังเคราะห์’ มาเพื่อปลูกถ่ายโดยเฉพาะ นั่นก็คือไต

และเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมก็โผล่มาพอดี คอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือ ใช้อวัยวะของสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดอย่างหมู จากนั้นจึงทำการตัดต่อพันธุกรรมให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้ก็จบ จากนั้นก็สามารถนำไปใช้ปลูกถ่ายได้

ถ้าได้ติดตามข่าว จริงๆ เขาก็พูดกันมาหลายปีแล้ว และเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนากันมานานแล้ว แต่จังหวะทำการ ‘ทดลอง’ มาสำเร็จก็ปี 2021 นี่แหละ

สถานีต่อไปของเทคโนโลยีนี้คือเริ่มทดลองปลูกถ่ายเข้าไปในร่างกายมนุษย์ที่จะมีชีวิตต่อไป (ไม่ใช่คนที่ตายแล้วในทางเทคนิค) เพราะถ้าสามารถปลูกถ่ายแล้วใช้ชีวิตได้ปกติ บอกเลยว่าสนุกแน่ และ ‘โรคไต’ จะน่ากลัวน้อยลงมาก

อ้างอิง: IFLS. Genetically Engineered Pig Kidney Successfully Transplanted Into Human In World First. https://bit.ly/3pUPm0P
IFLS. Pig Kidney Successfully Transplanted Into Human Recipient For Second Time.
https://bit.ly/3HG80zB
.
#PigKidney #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow

ที่มา : BrandThink.me


Visitors: 1,217,468