ภูฏาน ประเทศเดียวในโลกที่คาร์บอนฯ = 0 แต่อาจเจอ “สึนามิจากฟ้า” จากภาวะโลกร้อนก่อนใคร

ภูฏาน ประเทศเดียวในโลกที่คาร์บอนฯ = 0 แต่อาจเจอ “สึนามิจากฟ้า” จากภาวะโลกร้อนก่อนใคร

ภัยจาก “โลกร้อน” กำลังส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งทั่วโลกละลายเร็วขึ้น
 
ประมาณกันว่า ไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า การละลายของแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและใต้จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และประเทศชายฝั่งเกือบทั้งหมดอาจกลายเป็นนครแอตแลนติส
 
วันเวลาจากนี้ จึงเป็น “ชั่วโมงเร่งด่วน” ในการแก้ไข ก่อนมนุษย์จะกลายเป็น “อควาแมน” แต่ผลกระทบจาก “โลกร้อน – น้ำแข็งละลาย” ไม่ได้เกิดกับกลุ่มประเทศติดทะเลเพียงส่วนเดียว
 
ประเทศที่รายล้อมไปด้วยแผ่นดินและเทือกเขา ต่างเสี่ยงรับผล (ซวย) ไม่ต่างกัน
 
หนึ่งในนั้น คือ “ภูฏาน” ประเทศที่ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับทะเล
 
ภูฏาน เป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปเอเชีย ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยระหว่างประเทศอินเดียกับจีน
 
หลายปีที่ผ่านมา ภูฏานมุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดวางเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ เช่น ผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ เพื่อลดการผลาญพลังงานฟอสซิล การสร้างความร่วมมือกับบริษัทผลิตรถยนต์เพื่อส่งเสริมการใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้า ไปจนถึงให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทได้ใช้ไฟฟ้าฟรี เพื่อลดการตัดไม้มาทำฟืน และตั้งเป้ารักษาพื้นที่ป่า จนปัจจุบัน ภูฏานมีพื้นที่ป่ามากกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
 
และการมีพื้นที่ป่ามาก หมายถึงการดูดซับคาร์บอนฯ ได้มาก และเมื่อประเทศผลิตคาร์บอนฯ น้อยกว่าความสามารถในการกักเก็บ (พื้นที่) ปัจจุบันภูฏานจึงกลายเป็นประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ เป็นประเทศเดียวในโลก
 
แต่ความพยายามลดโลกร้อนที่ทำไป กลับไม่ช่วยอะไรประเทศนี้เลย
 
เพราะการเพิ่มขึ้นของปริมาณคาร์บอนฯ จากค่าเฉลี่ยทั้งโลก (ที่ไม่เกี่ยวกับภูฏาน) ได้เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ผิดเพี้ยน ส่งผลให้หิมะบนเทือกเขาหิมาลัยละลายเร็วขึ้น
 
การละลายของหิมะจะทำให้เกิดมวลน้ำปริมาณมหาศาล ซึ่งปัจจุบันได้ไหลไปรวมอยู่ในทะเลสาบธรรมชาติ ที่คอยรับน้ำไว้ตอนบนของประเทศ
 
การที่หิมะละลายและไหลมารวมในทะเลสาบมากขึ้น ทำให้ภูฏานตกอยู่ในภาวะเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันได้ทุกเวลา
 
ศูนย์อุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยาของประเทศภูฏาน เรียกปรากฏการณ์แห่งอนาคตอันใกล้นี้ว่า “สึนามิจากฟ้า”
 
จากการวิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยในปีนี้ ระบุว่า มีทะเลสาบที่รับน้ำจากธารน้ำแข็งหลายแห่งจัดอยู่ในกลุ่มอันตราย มีปริมาณน้ำพร้อมล้นทะลักได้ตลอดเวลา
 
หากสิ่งที่เรียกว่า “สึนามิจากฟ้า” เกิดขึ้น จะหมายถึงหายนะใหญ่ของประเทศ เพราะ 70% ของชุมชนในภูฏานอาศัยตามที่ราบหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน
 
สิ่งที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชน เศรษฐกิจของประเทศ แหล่งเพาะปลูก ป่าไม้ถูกทำลาย รวมถึงโบราณสถานทางประวัติศาสตร์จะเสียหายย่อยยับ
 
ตอนนี้ ภูฏานเตรียมแผนรับมือโดยส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าตามทะเลสาบที่เสี่ยงว่าน้ำจะเอ่อล้น เพื่อเตือนให้ชุมชนได้อพยพล่วงหน้า
 
ซึ่งหากเกิด “สึนามิจากฟ้า” ขึ้นกะทันหัน อย่างน้อยที่สุด ยังสามารถแจ้งล่วงหน้าได้ 30 นาที
 
แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะมีทะเลสาบหลายแห่งที่ไม่อาจเข้าไปเฝ้าสังเกตปริมาณน้ำได้ ด้วยข้อจำกัดการเดินทาง
 
สถานการณ์ที่กำลังเป็นไป จะว่าไปก็เป็นเรื่องชวนเศร้าสำหรับประเทศเดียวในโลกที่บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่กลับต้องรับเคราะห์ไปอย่างแก้ไขอะไรไม่ได้
 
สิ่งที่ภูฏานกำลังเผชิญ คือ การย้ำให้เห็นว่า “โลกร้อน” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกการกระทำส่งผลกระทบถึงกันทั่วทั้งโลก ไม่เกี่ยวว่าใครเป็นใคร
 
ต่อให้เป็น “คนดี” ก็ไม่รอด
อ้างอิง:
  • Green News. ‘ภูฏาน’ เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของโลก ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์.https://bit.ly/2Z5MwYM
  • Channel News Asia. ‘A tsunami in the sky’: Climate change is melting Bhutan’s glaciers and the danger is real. https://bit.ly/2R9qDUp

 

ที่มา : https://www.brandthink.me

 

Visitors: 1,223,682