เทรนด์ลดน้ำหนักใหม่ One Meal a Day Diet (OMAD) กินอาหารมื้อเดียวต่อวัน ได้ผลจริงไหม?
เทรนด์ลดน้ำหนักใหม่ One Meal a Day Diet (OMAD) กินอาหารมื้อเดียวต่อวัน ได้ผลจริงไหม?
โลกนี้ไม่เคยขาด ‘เทรนด์ลดน้ำหนัก’ ซึ่งงานวิจัยต่างชี้ชัดแล้วว่าถ้าจะเอาแค่ ‘ลดน้ำหนัก’ การควบคุมอาหารสำคัญที่สุดแบบไม่ต้องเถียงกัน แต่ปัญหาคือการ ‘ควบคุมอาหาร’ นี่มันทำได้หลายแบบ ซึ่งคนสมาทานวิธีการแต่ละแบบก็ดูคล้ายกับนักบวชในนิกายทางศาสนาอะไรสักอย่าง ที่พร้อมจะปกป้อง ‘วิธีการลดน้ำหนัก’ ของตัวเอง แต่ก็นั่นเอง ไม่ได้หมายความว่าเทรนด์ลดน้ำหนักใหม่ๆ จะไม่เกิด เพราะก็มีเทรนด์ใหม่ๆ มาท้าทายเทรนด์เก่าๆ และสร้างข้อถกเถียงมาตลอด โดย ‘เทรนด์ล่าสุด’ ของการลดน้ำหนัก มีชื่อว่า ‘OMAD Diet’ ที่ย่อมาจาก One Meal a Day หรือการ ‘กินอาหารวันละมื้อ’ ซึ่งหลายคนอาจได้ยินคนรอบๆ ตัวทำตามเทรนด์นี้กันแล้ว และ ‘คนดัง’ อย่างร็อกเกอร์อเมริกันรุ่นใหญ่ บรูซ สปริงสทีน, นักร้องนำวง Coldplay อย่างคริส มาร์ติน และนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่าง ริชี ซูแน็ก ก็กินแบบนี้ OMAD Diet เป็นการกินมื้อเดียวต่อวัน คือกินเวลาเดิม และจะกินอะไรเท่าไรก็ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน นอกจากมื้ออาหาร ห้ามกินอะไรที่ให้พลังงานเด็ดขาด (กินน้ำเปล่าและกาแฟดำได้) หลักการคือ ถ้าทำแบบนี้ ร่างกายจะ ‘ขาดพลังงาน’ เพราะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จนสุดท้ายดึงเอาไขมันที่เก็บสะสมเอาไว้มาใช้ ทำให้ ‘ผอม’ ลงในที่สุด คนที่กินสูตรนี้แล้วน้ำหนักลด ก็รู้สึกว่าสุขภาพดีกันไป อย่างไรก็ดี คนที่กินอาหารตามสูตรลดอาหารใดๆ แทบทุกคนก็พูดแบบนี้ ดังนั้นคำถามก็คือ OMAD เป็นเทคนิคการลดน้ำหนักที่ดีกว่าเทคนิคอื่นหรือไม่? หากเราคุ้นกับการลดน้ำหนัก อาจจะพอทราบว่ามันใกล้เคียงหรือเรียกว่า IF 23/1 ก็ได้ ซึ่งก็คือการทำการ ‘อดอาหารเป็นเวลา’ อย่าง Intermittent Fasting ซึ่งที่เรียกกันย่อๆ ว่า IF แบบที่งดอาหาร 23 ชั่วโมง และกินภายในเวลาอาหาร 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งตามหลักมาตรฐาน คือ ‘นอกมื้ออาหาร’ ห้ามกินอะไรที่ ‘ให้พลังงาน’ โดยเด็ดขาด แต่น้ำเปล่าและชา-กาแฟกินได้ ซึ่งก็มีบางคนที่ทำ IF ในรูปแบบนี้กันมามานานแล้ว โดยจริงๆ แค่คน ‘ไม่กินข้าวเช้า’ แล้วกินแค่ข้าวกลางวันและมื้อเย็นก็จะเรียกว่าเป็น IF 8/16 ก็ได้เช่นกัน เลยทำให้มีการวิจัยมาพอสมควรว่าการทำ ‘IF’ หรือเทคนิค ‘งดอาหารเป็นเวลา’ นั้นดีกว่าเทคนิคการลดน้ำหนักตามจารีต ซึ่งคือการ ‘จำกัดแคลอรี’ ไหม? คำตอบเร็วๆ คือ งานวิจัยต่างๆ ชี้ไปในทางตรงกันว่า มัน ‘ได้ผล’ ทั้งคู่ หรือให้ตรงคือ ทำ IF มันไม่ได้ดีกว่าการนับแคลอรี ถ้าทำถูก น้ำหนักก็ลดทั้งคู่ ซึ่งถ้ากลับมาที่ OMAD จริงๆ มันแทบ ‘ไม่มีผลวิจัยยืนยัน’ เลย เพราะปกติคนกินแบบนี้ก็อ้างงานวิจัยของ IF และก็อย่างที่บอก งานวิจัยบอกว่ามันก็ ‘ไม่ได้ดี’ ไปกว่าเทคนิคการลดน้ำหนักแบบเก่าๆ ซึ่งเอาจริงๆ เวลามีเทรนด์ลดน้ำหนักมาใหม่ โดยทั่วไปผลสรุปก็มักจะออกมาแบบนี้ตลอด อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า OMAD อาจเป็นอันตรายในระยะยาว เพราะในทางปฏิบัติ การกินอาหารเพียงแค่มื้อเดียวให้ได้สารอาหารครบ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คือมันกินแบบส่งๆ ไม่ได้ ต้องกินแบบคำนวณโภชนาการให้ได้สารอาหารครบ ซึ่งปกติคนทำ OMAD นั้นทำเพราะ ‘ยอมกินมื้อเดียวเพราะต้องการจะกินตามใจชอบ’ และคนเหล่านี้ก็มักจะไม่ได้คำนึงถึงสารอาหารที่กินเข้าไปเพียงมื้อเดียวต่อวัน นอกจากนี้ ในทางจิตวิทยา เวลาคนหิวโซมักจะกินของที่ไม่ค่อยมีสารอาหารและให้แต่พลังงานอย่างพวกแป้งและน้ำตาลเยอะ ซึ่งเขาก็คิดว่าคนที่กิน OMAD ส่วนใหญ่น่าจะมีแนวโน้มในการ ‘เลือกกิน’ พวกของที่ทำให้อ้วนเหล่านี้มากกว่าปกติ เพราะเวลาได้กินข้าวคือตอนหิวจัด และผลรวมๆ ก็คือมันจะลบล้างผลของการเผาผลาญไขมันเวลาอดอาหารไป แต่เราก็ต้องเน้นย้ำว่า ในทางทฤษฎีแล้วเทคนิคการลดน้ำหนักสารพัดที่เสนอกันมา ถ้าคนทำตามทฤษฎีได้เป๊ะๆ น้ำหนักก็จะลดและไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ แต่บางทีถ้าทำผิดไปนิดเดียว ร่างกายก็อาจจะค่อยๆ พังในระยะยาว และ ‘ปัญหา’ การลดน้ำหนักมันก็ดันไม่มีทางออกง่ายๆ เพราะ ‘ทางออกมาตรฐาน’ ที่พูดกันก็คือ กินให้พอดี ออกกำลังกายให้เพียงพอ และพักผ่อนเยอะๆ ซึ่งปัญหาคือ บางคนมันก็ทำอย่างที่ว่าอยู่แล้ว น้ำหนักก็ไม่ได้ลด และถ้าจะลดอีก สิ่งที่คนทำได้ผลจริงๆ ก็แทบจะมีแต่การปรับอาหารและวิธีการกิน ซึ่งก็จะวนมาสู่คำถามว่า กินอาหารแบบไหนให้น้ำหนักลด และก็จะกลับมาที่สารพัด ‘ตัวเลือก’ ของการกินเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งในเชิงการวิจัยแล้วก็ยังไม่พบว่าอะไรดีกว่ากัน ดังนั้นมันไม่ง่ายที่จะเคลมในทางวิทยาศาสตร์ ว่าเทคนิคลดน้ำหนักแบบไหนดีที่สุด และเทคนิคลดน้ำหนักที่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วอย่างการ ‘ใช้ยา’ บางชนิดนั้นก็เป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแพทย์คงไม่แนะนำ เพราะหากใช้ผิด ปัญหาสุขภาพที่เกิดจะยุ่งยากกว่าการแค่ ‘น้ำหนักเกิน’ อย่างแน่นอน อ้างอิง The Conversation. What is the OMAD diet? Is one meal a day actually good for weight loss? And is it safe? https://theconversation.com/what-is-the-omad-diet-is-one-meal-a-day-actually-good-for-weight-loss-and-is-it-safe-207723 IFLS. What Is The OMAD Diet And Does It Work? https://www.iflscience.com/what-is-the-omad-diet-and-does-it-work-71077
ที่มา : https://www.brandthink.me/content/omad-diet
|