ปลูกได้ไหม เช็กลิสต์กัญชา เราทำอะไรได้บ้างหลัง ป.ป.ส. ถอดจากยาเสพติดประเภท 5

ปลูกได้ไหม? เช็กลิสต์กัญชา เราทำอะไรได้บ้างหลัง ป.ป.ส. ถอดจากยาเสพติดประเภท 5

หลังจากที่กลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายปราบปรามอยู่นาน เพราะฝ่ายหนึ่งยืนยันว่ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ได้ถอด “กัญชา” จากยาเสพติดแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายก็ยืนยันว่ายังไม่ถอดและต้องดำเนินคดี

 

ล่าสุด (25 มกราคม 2565) บอร์ด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรีนั่งหัวโต๊ะ ได้เคาะบทสรุปปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญ เพราะมันเท่ากับว่า ต่อไปนี้ กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด และไม่มีบทลงโทษตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดอีกต่อไป (แต่จะมีกฎหมายควบคุมอื่นๆ เพิ่มเติม)  อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำไว้ก่อนว่าการตัดสินใจครั้งนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรออีก 120 หลังประกาศในราชกกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งระหว่างนั้น ทางพรรคภูมิใจไทยและ อย. กำลังเร่งทำกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมกัญชาต่อไป 

มติที่บอร์ด ปปส. 

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. บอร์ด ป.ป.ส. ที่มีรองนายกฯ วิษณุเป็นประธานได้อนุมัติที่จะถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แต่ยังคงสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีค่า THC เกินกว่า 0.2% เป็นยาเสพติดอยู่ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจา

หมายความสั้นๆ กระชับว่า หลังจากนี้ 120 วันรัฐไทยจะไม่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดกับกัญชาได้อีกแล้ว ดังนั้น การปลูก ซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก จึงกระทำได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมายอื่นมาควบคุม (กระทรวงสาธารณสุขกำลังร่างกฎหมายควบคุมอยู่ เนื้อหาอยู่ด้านล่าง) 

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีกฎหมายควบคุมกัญชาเพราะตามอนุสัญญา UPOV 1961 ที่นานาประเทศตกลงร่วมกัน ไม่ได้ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายควบคุม ซึ่งถ้าลองนึกภาพจะเช่นเดียว ยาสูบที่กำหนดอายุขั้นต่ำ 18 ปีในการใช้เป็นต้น

สำนักข่าวเดลินิวส์รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงการปลูกกัญชาเสรีว่า 

“จากนี้ไปจะสามารถปลูกได้ง่ายแต่ต้องจดแจ้งก่อน และต้องปลูกตามจำนวนที่กำหนด ไม่นำไปสกัดเพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรม หากสกัดเป็นน้ำมันต้องขออนุญาต”

ร่าง พ.ร.บ.กัญชาและกัญชง พ.ศ… 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วันนี้บอร์ด ป.ป.ส. จะเคาะถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แล้ว แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ชี้แจงว่า กำลังมีการร่าง พ.ร.บ.กัญชาและกัญชง พ.ศ… กล่าวคือ จะมีกฎหมายตัวใหม่ที่มาควบคุมพืชชนิดนี้ เช่นเดียวกับบุหรี่และสุรา

โดยเนื้อหาจากคำแถลงคร่าวๆ คือ 

  1. กัญชาและกัญชงไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีค่าสาร THC เกินกว่า 0.2% อาทิ น้ำมัน หรือยางกัญชา ที่ยังคงนับว่าเป็นยาเสพติด
  2. การครอบครองและใช้ไม่ว่าส่วนใดก็ตามของกัญชา (เมล็ด, ดอก, ราก, ใบ,  ก้าน, กิ่ง,….) ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จะมีข้อกำหนดบางประการ เช่น ต้องเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ห้ามสตรีมีครรภ์หรือที่กำลังให้นมบุตร แต่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ก็สามารถพิจารณาจ่ายได้ 
  3. การผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย สกัด โฆษณา จำเป็นต้องขออนุญาต และมีข้อจำกัดเดิม เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่สูงที่สุด
  4. ปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนไม่จำเป็นต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหรือวิสาหกิจชุมชนแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้องแจ้งกับภาครัฐเพื่อขออนุญาตก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
  5. ปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมสามรถกระทำได้ แต่ยังข้อมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้องขอใบอนุญาต และข้อจำกัดอื่นๆ ที่กำหนดไว้ เช่น ผู้ขออนุญาตต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
  6. การใช้ในเชิงสันทนายังไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ นักข่าวถามต่อว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการใช้ในเชิงสันทนาการ เลขาฯ อย. ตอบว่า อยู่ที่วิจารณญาณของประชาชน และจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจตามบ้านที่จดแจ้งเรื่อยๆ 
  7. กำลังมีการพิจารณาเปิดบางพื้นที่ (แซนด์บ็อกซ์) สำหรับใช้ในเชิงสันทนาการ 

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายเท่านั้น และยังต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ การเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ ดังนั้น อยากให้ทุกคนที่ติดตามข่าวของกัญชาดูอย่างใกล้ชิด ว่าในเรื่องรายละเอียดจะมีการปรับอย่างไรต่อไป 

 

สถานการณ์ตอนนี้ 

สถานการณ์ในตอนนี้ยังต้องรอให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาและนับถอยหลังไปอีก 120 วันถึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่างนั้น คาดว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นเข้ามาควบคุมสมุนไพรชนิดนี้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การประชุมในครั้งนี้เท่ากับว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดสำหรับสังคมไทยอีกต่อไป หรือบทลงโทษหรือข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ยาเสพติด ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับกัญชาได้นั่นเอง

สำหรับกรณีที่สามารถครอบครองและใช้กัญชาได้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 มีดังนี้

  1. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าทีศึกษาและวิจัย จัดการเรียนการสอน หรือให้บริการทางการแพทย์
  2. แพทย์ทั้งหลาย รวมถึงหมอพื้นบ้าน
  3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่สอนเกี่ยวกับการแพทย์
  4. เกษตรกรที่ต้องการปลูกต้องรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และจดแจ้งกับหน่วยงานภาครัฐ 
  5. สำหรับการใช้งาน ผู้ที่สามารถทำได้ในตอนนี้อย่างแน่นอนแล้วคือ กลุ่มผู้ป่วย ที่ได้รับใบอนุญาตจากแพทย์

อย่างไรก็นับว่าเป็นข่าวดีมากแล้ว เพราะในที่สุด กัญชาก็คืนสู่สมุนไพรพื้นบ้านของคนไทย ไม่ใช่ยาเสพติดเหมือนที่เขาหลอกกันอีกต่อไป แต่ถ้าใครโดนเจ้าหน้าที่ภาครัฐจับ ยังไงก็ลองติดต่อ ส.ส.ศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย เพราะเขากล่าวในรายการ ‘โหนกระแส’ วันที่ว่า 

“ผมบอกว่าจะฟ้องคดีคนจับ (กัญชา) เพราะถือว่าทำผิด ม.157 เพราะถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

 

 “กฎหมายกำหนดไว้ว่าบุคคลต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิกและมีโทษ ผมถามว่าในกฎหมายยาเสพติดมีคำว่า ‘กัญชา’ บัญญัติไว้ไหม คำตอบคือ ไม่มี” ศุภชัยเขาว่างี้แหละครับ

 

อ้างอิง:

https://www.prachachat.net/marketing/news-846814

https://www.matichon.co.th/politics/news_3147106

https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6844540

https://www.dailynews.co.th/news/701216/

 

 

ที่มา : Thematter
https://thematter.co/quick-bite/marijuana-quit-from-druglist/166107

 

 

Visitors: 1,409,225