โรคฉี่หนู (Leptospirosos)

โรคอันตรายที่มาพร้อมกับหน้าฝนและน้ำท่วม


โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Leptospira มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วยจึงเป็นที่มาของคำว่า“โรคฉี่หนู” นอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ใน สุนัข วัว

เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทางคือ
1. ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือ โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด
2. ทางอ้อม เช่น
o เชื้อจากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล
o มือสัมผัสเชื้อที่ปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเอาเชื้อเข้าทางเยื่อบุในปาก ตา จมูก
o กินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
• เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ชาวสวน
• คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา
• กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์
• กลุ่มอื่นๆ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา
• กลุ่มประชาชนทั่วไป มักเป็นเกิดในที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา

การติดต่อของโรค
• เมื่อคนสัมผัสเชื้อซึ่งอาจจะเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือแผล ผิวหนังปกติที่เปียกชื้นเชื้อก็สามารถไชผ่านไปได้เช่นกัน
• เชื้ออาจจะเข้าร่างกายโดยการดื่มหรือกินอาหารที่มีเชื้อระยะฟักตัวของโรค
• โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วันหรืออยู่ระหว่าง 4-19 วัน ระยะติดต่อ
• การติดต่อจากคนสู่คนเกิดได้น้อยมาก

อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนู
ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย มีเพียงประมาณ 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง เมื่อเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการเร็วหรือช้าในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน

บางรายมีอาการเร็วภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์หรืออาจจะถึง 1 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ และผู้ติดเชื่อก็มีหลายลักษณะอาการดังนี้คือ

• ไม่มีอาการเลย
• มีอาการน้อย
• มีอาการมาก
• มีอาการรุนแรง
• มีภาวะแทรกซ้อน และในบางรายเป็นอันตรายถึงชีวิต
อาการเด่นๆ ของโรคฉี่หนู
ผู้ที่เป็นโรคฉี่หนูมักมีอาการที่เป็นลักษณะเด่นๆ 2 ระยะ คือ

ระยะแรก อาการแสดงต่างๆ จะเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง ผู้ป่วยจะมี
• อาการไข้สูง
• หนาวสั่น
• ปวดศีรษะ
• ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
• ปวดหลัง
• ปวดหน้าท้อง
• ปวดต้น ขา
• ปวดน่อง
• เจ็บคอ
• เจ็บหน้าอก
• ไอ คลื่นไส้
• อาเจียน
• ตาแดง
• เยื่อบุตาบวม
• มีผื่น
• ต่อมน้ำเหลืองโต
• ตับโต
• ม้ามโต

อาการมักเป็นหลายอย่างๆ ร่วมกันไม่เฉพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง คล้ายๆ กับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้ไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) ซึ่งอาการระยะแรกนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วอาการจะดีขึ้น แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะที่ 2 ตามมา

ระยะที่สอง เป็นอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเอง ซึ่งมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หลายอย่าง เช่น
• การเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
• ตาอักเสบ
• หลอดเลือดอักเสบ
• ปอดอักเสบ
• กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
• เลือดออกในเนื้อปอด
• ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน
• ไตวายเฉียบพลัน
• ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

การวินิจฉัยโรคฉี่หนู
การติดเชื้อโรคฉี่หนูที่ไม่รุนแรงอาจยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคหวัด ในขณะที่โรคฉี่หนูชนิดรุนแรงจะวินิจฉัยได้ง่ายกว่า เนื่องจากแสดงอาการรุนแรงมากกว่า
เริ่มแรกแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นและซักถามประวัติผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น เพิ่งกลับมาจากการเดินทาง เล่นกีฬาทางน้ำ

มีการสัมผัสกับแหล่งน้ำจืด มีอาชีพที่ต้องทำงานกับสัตว์ หรือเคยพักหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคฉี่หนูควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้ให้แพทย์ทราบ  หากแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการติดเชื้อจากโรคฉี่หนู จึงอาจมีการส่งตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือตรวจทั้งคู่ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคชนิดรุนแรง

อาจต้องใช้การวินิจฉัยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับและไตเพิ่มเติม เป็นต้น

การรักษาโรคฉี่หนู
โดยมากโรคฉี่หนูมักไม่มีอาการรุนแรงและหายดีได้เอง หรืออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลิน (Penicillin) หรือดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ซึ่งควรต้องรับประทานตามกำหนดให้ครบถ้วนแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด และป้องกันการกลับไปติดเชื้ออีกครั้ง

นอกเหนือจากยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดอย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการปวดศีรษะ มีไข้ และปวดกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
ในขณะที่ผู้ป่วยโรคฉี่หนูแบบรุนแรงจะต้องนอกพักที่โรงพยาบาล และรักษาอาการติดเชื้อด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าไปในกระแสเลือดโดยตรง และหากมีอวัยวะใด ๆ ที่เสียหายจากการติดเชื้อ

ทำให้ไม่สามารถใช้หรือทำหน้าที่ตามปกติได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือหากติดเชื้อที่ไตทำให้ไตเสียหายจนทำงานไม่ได้ก็ต้องใช้การล้างไตเข้าช่วย เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายอาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่บางรายอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะของผู้ป่วย รวมถึงความเสียหายต่ออวัยวะที่ติดเชื้อ
ส่วนหญิงตั้งครรภ์ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้ออาจแพร่ไปสู่ทารกในครรภ์และส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการของโรคฉี่หนูจึงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

การป้องกัน
1. กำจัดหนู
2. ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว
4. หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
5. หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น

6. หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ

7. รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ยำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ

 

Visitors: 1,409,222