วัคซีน HPV ผู้ชายก็ฉีดได้แม้ไม่มีมดลูก ช่วยลดเสี่ยงโรคมะเร็ง
วัคซีน ‘HPV’ ผู้ชายก็ฉีดได้แม้ไม่มีมดลูก ช่วยลดเสี่ยงโรคมะเร็งหลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าวัคซีน “HPV” มีไว้ฉีดเพื่อป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก” ในผู้หญิง แต่ความจริงแล้วผู้ชายก็ฉีดได้ ป้องกันความเสี่ยงโรคร้ายได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็ง บางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผู้ชายก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีน “HPV” ทั้งที่เป็นวัคซีนป้องกันความเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก” สำหรับผู้หญิง! แต่ความจริงแล้ว.. ผู้ชายเองก็มีความเสี่ยงจะเกิดโรคต่างๆ จาก เชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus (ภาษาไทยเรียกว่า เชื้อแปปิโลมา) ได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เชื้อไวรัส HPV เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว รวมถึงก่อโรคที่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จากการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญผู้ที่มีเชื้อไวรัส HPV อยู่ในร่างกายตัวเองมักจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา ทำให้อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยทั่วไปสายพันธุ์ของ “เชื้อไวรัส HPV” มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายกับร่างกายมนุษย์มากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ HPV มากกว่าปีละ 1 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี
ไม่ใช่แค่การก่อโรค “มะเร็งปากมดลูก” ในผู้หญิงเท่านั้น แต่เชื้อไวรัส HPV ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหูดหงอนไก่, มะเร็งทวารหนัก, มะเร็งอวัยวะเพศ ไปจนถึงมะเร็งในช่องปากและลำคอ ในผู้ชายได้ด้วย โดยการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ปาก นอกจากนี้หากผู้ชายติดเชื้อดังกล่าวมาจากใครคนหนึ่งแล้ว แต่แม้ยังไม่แสดงอาการ แต่ก็ถือว่าคนๆ นั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คู่นอนคนอื่นๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีบางสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อไปยังผู้ชาย และก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาได้ หมายความว่าแม้ผู้ชายจะไม่มีมดลูกเหมือนกับผู้หญิง แต่ก็เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากเชื้อไวรัส HPV ได้ ไม่แพ้ผู้หญิงเลย
ในปัจจุบันการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส HPV ที่ดีที่สุด คือการฉีด “วัคซีน HPV” เนื่องจากสามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้มากกว่าหนึ่งชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไวรัสที่ผู้ชายสามารถติดได้ แต่ถ้าหากต้องการฉีดวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรฉีดวัคซีนในช่วงอายุระหว่าง 9-26 ปี หรืออาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินอายุ 45 ปี เพราะสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อได้มากถึงเกือบ 100% แต่ถ้าหากไม่สามารถฉีดได้ในช่วงอายุดังกล่าว ก็สามารถฉีดหลังจากนั้นได้ แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสก็อาจลดลงตามอายุที่มากขึ้น สำหรับการฉีดวัคซีน HPV ที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ควรฉีดตามอายุที่เหมาะสมเท่านั้น แต่การฉีดวัคซีนให้ครบโดส ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้ - เข็มที่ 1 กำหนดวันที่ต้องการฉีดได้เอง - เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน - เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 6 เดือน สุดท้ายแล้วการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส HPV นั้น ไม่ได้มีความสำคัญสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของผู้ชายอีกด้วย หากใครสนใจฉีดวัคซีนดังกล่าว สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้เพื่อให้ได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม อ้างอิงข้อมูล : รพ. วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม, รพ. เปาโล, รพ. เพชรเวช และ รพ. ศครินทร์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |