ปีนี้ฉันจะรวย: เทคนิคการเก็บเงิน ในแบบฉบับมนุษย์เงินเดือน

ปีนี้ฉันจะรวย: เทคนิคการเก็บเงิน ในแบบฉบับมนุษย์เงินเดือน


‘การเก็บเงินและการออม’ ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการเงินและความร่ำรวย เป็นเหมือนการสร้างวินัยพื้นฐานทางการเงิน วันนี้แคมเปญ #ปีหน้าฉันจะรวย ขอนำเสนอ 7 วิธีง่ายๆ ที่ใช้ได้ และมีประโยชน์จริง ที่มนุษย์เงินเดือนและคนทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างแน่นอน

* แต่อย่าลืมว่า ทุกคนมีเงื่อนไขและรูปแบบไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง วิธีไหนเหมาะ วิธีไหนใช้ ก็เอาไปประยุกต์ใช้ได้เต็มที่

1. แบ่งเงินให้เป็นสัดส่วน

พอเราได้เงินมา สิ่งสำคัญก็คือการจัดสรรเงินก้อนนั้นให้ชัดเจนว่าจะเก็บไว้เพื่ออะไร มีวัตถุประสงค์ในเรื่องไหน โดยมีหลักการชื่อดังอย่าง ‘6 JARS System of Money Management’ หรือ ‘การออมเงินแบบ 6 กระปุก’ ที่คิดค้นโดย ที ฮาร์ฟ เอคเคอร์ ที่หลายคนยืนยันแล้วว่าเวิร์ก เป็นเหมือนไกด์ในการจัดการเงินขั้นต้นได้อย่างดีเยี่ยม

หลักการก็ง่ายๆ กับการแบ่งเงินเป็น 6 ส่วนเพื่อตอบโจทย์ชีวิตในด้านต่างๆ

55 เปอร์เซ็นต์ - กระปุกที่ 1 : กระปุกแห่งความจำเป็น (NEC : Necessities Account)

10 เปอร์เซ็นต์ - กระปุกที่ 2 : กระปุกแห่งความหฤหรรษ์ (Play)

10 เปอร์เซ็นต์ - กระปุกที่ 3 : กระปุกแห่งเสรีภาพทางการเงิน (FFA : Financial Freedom Account)

10 เปอร์เซ็นต์ - กระปุกที่ 4 : กระปุกแห่งการศึกษา (EDUC : Education Account)

10 เปอร์เซ็นต์ - กระปุกที่ 5 : กระปุกแห่งความยิ่งใหญ่ (LTSS : Long Term Saving for Spending)

5 เปอร์เซ็นต์ - กระปุกที่ 6 : กระปุกแห่งการแบ่งปัน (Give)

โดยในแต่ละประเด็นยังมีหลายละเอียดอีกมาก สามารถทำความรู้จักเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/2RTKNFv

2. ใช้บัญชีฝากประจำ

การใช้บัญชีฝากประจำก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนเลือกใช้ เพราะนอกจากจะให้ดอกเบี้ยมากกว่าการฝากออมทรัพย์แบบธรรมดาแล้ว (แต่ก็ให้มากกว่านิดหน่อย) สิ่งสำคัญก็คือ ‘ความอัตโนมัติ’ และ ‘ถอนยาก’ สองสิ่งนี้เป็นเหมือนตัวช่วยในการออมของเรา ไม่ต้องมาคอยหักห้ามใจ ไม่ต้องมาคอยแบ่งเงิน สามารถให้ธนาคารตัดยอดจากเงินเดือนส่วนหนึ่งไปโปะในการฝากประจำได้เลย หักไปก่อนใช้ยังไงก็ได้ออมแน่ๆ

3. กระปุกที่เปิดไม่ได้

วิธีการสุดคลาสสิก แต่ก็เป็นวิธีที่เวิร์กมากวิธีการหนึ่ง การหยอดเศษเหรียญหรือธนบัตรในกระปุกหมูที่ไม่สามารถเปิดได้ จะเป็นเหมือนตัวช่วยให้เรากลั้นใจไม่เอาเงินออกมาใช้ (เพราะเอาออกมาไม่ได้) หยอดไปเรื่อยๆ เพลินๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จนกระปุกเต็ม พอทุบออกมาอีกที เราอาจจะมีเงินก้อนใหญ่แล้วก็เป็นได้

4.ตัดรายจ่ายมี่ไม่จำเป็น

การลดรายจ่าย ก็เป็นหนึ่งหนทางในการออมเงินที่ดี ซึ่งรายจ่ายที่เราตัดออกได้แน่นอนแล้วก็คือ รายจ่ายที่ไม่จำเป็น หากสังเกต ตอนนี้โลกธุรกิจมีโมเดล Subscription เราก็เผลอตัดบัตรเป็นสมาชิกที่นั้นที่นี้โดยไม่รู้ตัว ในส่วนที่เราใช้งานจริงๆ ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าสังเกต ก็จะมีบางอย่างที่เราปล่อยมันตัดๆ ไปโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก พอรวมๆ กัน เดือนหนึ่งอาจจะหลายพันบาทเลยก็มี บางคนอาจจะมีสมาชิก Streaming ฟังเพลงอยู่ 3 แห่ง แต่ปกติก็ฟังแค่เจ้าเดียว ติดตาม Streaming ภาพยนตร์/ซีรีส์ อยู่ 3 เจ้า ทั้งๆ ก็ดูอยู่แค่ที่เดียว ลองพิจารณาสิ่งรอบตัวมากขึ้น เราอาจจะเห็นบางอย่างที่เราพอตัดได้ก็ได้นะ

5. เก็บแบงค์ 50 / เก็บแบงค์ใหม่

หากใครเคยลองจะรู้เลยว่าจะมีความลำบากในชีวิตประจำวันนิดหน่อย แน่นอนว่าคุณจะใช้ชีวิตยากขึ้น แต่ความยากนั่นแหละก็เป็นตัวช่วยให้คุณไม่ใช้เงินง่าย เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเงินมากขึ้น ธนบัตร 50 บาทเก็บไปๆ มาๆ ก็ได้หลายพันแล้ว

6. ใช้เท่าไหร่เก็บเท่านั้น

สำหรับในวิธีนี้ บางคนก็เลือกที่เก็บตามสิ่งของที่ตัวเองซื้อ อาทิ ซื้อเสื้อ 500 ก็เก็บห้าร้อย บางคนก็เลือกเก็บเป็นจำนวนในทุกค่าใช้จ่าย นอกจากเราจะได้เก็บเงินแล้ว เรายังจะยิ่งระวังในการใช้เงินอีกด้วย

7. ให้เวลาในการตัดสินใจก่อนซื้อ

ในการใช้ชีวิต เราอาจจะซื้อเสื้อผ้า สิ่งของ หรือความบันเทิงต่างๆ มาเติมเต็ม และเป็นรางวัลแก่ความเหน็ดเหนื่อยกันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่หลายครั้งที่เราหน้ามืดตามัว ซื้ออะไรที่ไม่จำเป็นมา ซื้อมาแล้วก็ไม่ได้ใช้ ซื้อมาแล้วก็ไม่ได้ใส่ ซื้อมาแล้วก็เอามันไปทิ้งไว้เฉยๆ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้ออะไร พยายามใช้เวลาก่อนตัดสินใจซื้อ บางท่านอาจจะเลือกเป็น 24 ชั่วโมง ถ้าพรุ่งนี้ยังอยากได้อยู่ ก็จะซื้อได้ ของที่ใช้เงินเยอะมาหน่อย อาจจะมองเป็น 1 อาทิตย์หรือเดือน ถ้ายังอยากได้อยู่ แปลว่าเราอาจจะอยากได้มันจริงๆ หรือถ้าเป็นรถยนต์หรือบ้าน หลายคนก็มองว่าอาจจะรอเป็นปี ลองผ่อนทิพย์ดูก่อน ว่าถ้าเราต้องผ่อนด้วยเงินประมาณนี้ เราจะไหวไหม มันจะติดขัดเกินไปหรือเปล่า การชั่งใจก่อนซื้ออะไรบางอย่าง นอกจากจะช่วยประหยัดเงิน ยังทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราชอบมันจริงๆ หรือเปล่าด้วยนะ

หลายคนอาจจะมองว่าไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาออม ในยุคนี้เงินจะกินจะใช้ยังไม่ค่อยมีเลย เอาเป็นว่า กว่าจะมี ‘อิสระทางการเงิน จะเก็บจะออมอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบอย่ามัวแต่ออม อย่ามัวแต่เก็บ การออมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น อย่าลืมศึกษาเรื่องการหาเงินเพิ่ม และการลงทุนเพื่อทำให้เงินงอกเงยเอาไว้ด้วย ถ้าบาลานซ์ทุกอย่างได้ เงินเก็บของคุณจะพอกพูนขึ้นอย่างแน่นอน

 

ที่มา : BrandThink.me


Visitors: 1,216,252