HOW TO: วิธีทำงานให้เสร็จ ในเวลาที่เรา 'ไม่อยากทำอะไรเลย'

HOW TO: วิธีทำงานให้เสร็จ ในเวลาที่เรา 'ไม่อยากทำอะไรเลย'
 
.
'แรงจูงใจ' หรือ 'Motivation' เป็นคำนามของอารมณ์นามธรรมที่หาจับมาใส่ตัวได้ยากเหลือเกิน
.
ยิ่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะต้องกักตัวเป็นเวลานาน ไม่ได้ออกไปท่องเที่ยว หรือไม่ได้สังสรรค์จนสรรค์สร้างไม่ออก ทั้งหมดล้วนเป็นการบั่นทอนพลังใจ จนใครหลายๆ คนตกอยู่ในสภาวะ 'ไม่อยากทำอะไรเลย' แม้ภาระจะกองพะเนินอยู่ข้างตัว
.
ถ้าตอนนี้คุณกำลังอยู่ในสภาวะหันไปทางไหน แรงจูงใจก็ไม่เห็นมี ก็ไม่ต้องวิตกหรือเกลียดตัวเองไป เพราะจริงๆ แล้ว แรงจูงใจสร้างได้ เพียงแค่คุณต้องรู้วิธี ซึ่งวันนี้เราก็ได้รวบรวมวิธีสร้างแรงจูงใจมาฝากทุกคน

1. แรงจูงใจไม่ได้เหมือนกันหมด
.
สเตฟาโน่ ดิ โดเมนิโก นักวิจัยเรื่องแรงจูงใจ และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต สการ์โบโรห์ (the University of Toronto Scarborough) กล่าวว่า แรงจูงใจมีอยู่สองประเภท อย่างแรกคือ 'แรงจูงใจบังคับ' (Controlled motivation) ที่แรงทำงานของเรามาจากปัจจัยภายนอก เช่น เดดไลน์ โบนัส กับปัจจัยภายใน เช่น ความรู้สึกผิด อยากได้ใจลูกค้า ฯลฯ
.
แต่แรงจูงใจที่หลายๆ คนกำลังตามหากัน คือ 'แรงจูงใจแบบมีอิสระในตนเอง' (Autonomous motivation) ที่ถ้าเรามีแล้ว เราจะรู้สึกว่างานมันน่าทำ หรือรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำมันมีค่าให้ลงแรง และนี่แหละ จะเป็นแรงจูงใจชนิดที่ถ้าคุณมี ต่อให้รู้สึกขี้เกียจ ก็จะยังมีแรงฮึดทำงานจนเสร็จ
.
ข้อถัดๆ ไปจะเป็นวิธีปั้นแรงจูงใจชนิดนี้

2. ให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับตัวเอง
.
การมอบรางวัลให้กับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ มีผลวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า การให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ ทันทีที่ตัวเองเสร็จภารกิจยิบย่อย จะช่วยสร้างแรงจูงใจและทำให้เรารู้สึกสนุกกับหน้าที่หรือความรับผิดชอบต่างๆ มากขึ้น
.
เช่น ลอรา พาร์ค ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล (the University at Buffalo) เธอเคยวิ่งมาราธอนมาก่อน แต่ปัจจุบัน เธอรู้สึกว่าการเจียดเวลามาวิ่งเป็นเรื่องยาก เธอจึงเปิดหนังดูไปด้วยเวลาต้องวิ่งบนลู่วิ่ง ทำให้เธอรู้สึกว่าการวิ่งในบ้านเป็นเรื่องน่าพึงพอใจมากขึ้น

3. หา 'ทำไม' ของตัวเองให้เจอ
.
ริชาร์ด เอ็ม ไรอัน นักจิตวิทยาคลินิก หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ ผู้พัฒนาแนวคิดที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องแรงจูงใจมากขึ้นด้วย 'ทฤษฎีการกำหนดตัวเอง' (Self-Determination Theory) สนับสนุนให้เราดำลึกลงไปค้นหาคุณค่าในตนเอง หากเราต้องการมีแรงจูงใจในระยะยาว
.
ดร.ริชาร์ดกล่าวว่า ถ้าเราเชื่อมสิ่งที่สำคัญกับเราเข้ากับสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ แม้สิ่งนั้นอาจเป็นงานน่าเบื่อ เราจะสามารถควบคุมตัวเองให้ลงมือทำได้มากขึ้น
.
ลองถามตัวเองดูว่า 'อะไรที่ทำให้คุณรักงานนี้?' หรือ 'สิ่งที่ตัวเองทำมันมีค่าอะไร?'
.
จะเริ่มจากการเขียนสิ่งที่มีค่ากับตัวเองลงบนกระดาษก็ได้ ตัวอย่างเช่น ทานายา ไวน์เดอร์ กวีและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ เธอเปิดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการกอบกู้เป้าหมายในชีวิต และบ่อยครั้ง เธอจะให้นักเรียนเขียนตามอิสระว่าอะไรที่ทำให้พวกเขารู้สึกมีชีวิตชีวา

4. ไปด้วยกัน ไปได้ไกล
.
บางครั้ง 'ความรู้สึกเชื่อมโยง' ก็สามารถทำให้เรามีแรงจูงใจในหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น
.
ลองเชื่อมโยงเป้าหมายในชีวิตเข้ากับคนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมทีม ดร.ริชาร์ดกล่าวว่า “ความรู้สึกเชื่อมโยงกับสังคม” (Social connections) เช่นนี้ ถูกพิจารณาว่าช่วยฟื้นแรงจูงใจให้กลับมาได้ จึงไม่แปลกอะไรที่ช่วงนี้จะมีคนรู้สึกหมดแรงจูงใจกันเยอะ เนื่องจากต้องทำงานเดี่ยวๆ ในห้องตามมาตรการล็อกดาวน์
.
“พอปราศจากความรู้สึกเชื่อมโยงขั้นพื้นฐาน แรงจูงใจจึงค่อยๆ หายไป” ดร.ริชาร์ด กล่าว
.
ดังนั้น ถ้ารู้สึกเบื่อกับงานที่ทำ ก็ลองติดต่อกับเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยกันลงมือทำโปรเจกต์อะไรบางอย่าง ขอความช่วยเหลือจากคนในทีม หรือจัดประชุมระดมความคิด อะไรก็ได้ที่ช่วยสร้างความเชื่อมโยง
.
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแค่ดีต่อตัวเรา แต่ยังดีต่อคนอื่นด้วย “บอกให้ใครสักคนรู้ว่าเราคิดถึงเขา แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะปลุกแรงใจคนคนนั้น” ดร.ริชาร์ด แนะนำ
.
เช่นไม่นานมานี้ ดร.ริชาร์ดเพิ่งส่งจดหมายสั้นๆ ไปหาอาจารย์สมัยเรียนวิทยาลัย ขอบคุณอาจารย์ที่มอบความท้าทายและชั้นเรียนซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เขา อาจารย์ตอบกลับเขาอย่างรวดเร็ว กล่าวว่า อีเมลของ ดร.ริชาร์ดช่วยปลุกแรงใจให้กลับคืนมาสู่ตัวเขาได้
5. ลงสนามแข่งขัน
.
คนเราสามารถสร้างแรงจูงใจให้กันผ่านการแข่งขัน เดมอน เชนโทลา ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเพลซิลวาเนีย (the University of Pennsylvania) และนักวิจัยอาวุโสจากงานวิจัยปี 2016 เล่าถึงการวิจัยที่รวบรวมเด็กนักเรียนมาเข้ากลุ่มออกกำลังกายในโซเชียลมีเดีย กลุ่มหนึ่งเน้นให้แข่งขันกัน อีกกลุ่มเน้นให้การสนับสนุน ผลคือ เด็กนักเรียนในกลุ่มเน้นแข่งขันจะออกกำลังกายมากกว่ากลุ่มเน้นสนับสนุน
.
คนรอบตัวเรามีอิทธิพลต่อเรามากกว่าที่เราคิด ดังนั้น ดร.เดมอนจึงกล่าวว่า จงนำอิทธิพลของคนรอบตัวมาสร้างการแข่งขันให้กับตัวเองในเวลาที่ต้องการแรงจูงใจทำอะไรสักอย่าง เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น

6. เห็นใจตัวเองบ้างก็ได้
.
สำหรับบางคน การแข่งขันทำให้เครียดได้ และเปลี่ยนแรงใจให้กลายเป็นก้อนความคิดที่ขู่เข็ญเราเหมือนครูฝึกจอมโหด
.
ดังนั้น สำหรับ คริสติน เนฟฟ์ รองศาสตราจารย์ภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเทกซัสออสติน (the University of Texas) การปฏิบัติกับตัวเองด้วยความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ได้ผลมากกว่าการพยายามเคี่ยวเข็ญตัวเอง
.
เพราะมันสามารถช่วยให้คนจดจ่อกับเป้าหมายได้มากขึ้น ลดความกลัวที่จะล้มเหลว พัฒนาความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้น
.
ดร.คริสตินแนะนำว่า เราอาจเริ่มจากการหยุดถามความต้องการของตัวเองก่อน บางทีเราอาจค้นพบว่า มันถึงเวลาแล้วที่จะปรับเลนส์โฟกัสเป้าหมายใหม่ หรืออาจค้นพบว่าเราต้องการแรงสนับสนุนจากภายนอก เพราะบางครั้ง ทั้งหมดที่เราต้องการ อาจเป็นเพียงแค่การสดับรู้ว่า ตัวเรากำลังอยู่ในช่วงยากลำบาก และนั่นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
.
ดร.คริสตินกล่าวว่า การเห็นใจตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราจะอ่อนข้อหรือทิ้งแรงขับเคลื่อนในตัวเองไป ในหนังสือที่เธอเขียน 'Fierce Self-Compassion: How Women Can Harness Kindness to Speak Up, Claim Their Power, and Thrive' พูดถึงงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มนักเรียนที่มีผลการสอบวิชาคำศัพท์ไม่ค่อยดี หลังการสอบ กลุ่มนักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมให้เห็นใจตัวเอง จะตั้งใจเรียนต่อไปได้นานกว่า และมีผลสอบที่ดีขึ้นในการสอบครั้งต่อๆ มา เมื่อเทียบกับกลุ่มนักเรียนที่โดนปลุกความเชื่อมั่นในตัวเองเฉยๆ หรือไม่ได้รับคำแนะนำ
.
“กุญแจสำคัญของการสร้างแรงจูงใจ และเห็นใจตัวเอง คือมันช่วยเปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้จากความผิดพลาด” ดร.คริสติน กล่าว

7. อย่าลืมว่า “คุณไม่ได้โดดเดี่ยว”
.
หากเราเปิดโอกาสได้หันมองรอบตัว เราจะพบผู้คนมากมายที่ต่างก็เคยหมดไฟ หมดแรงใจกันมาทั้งนั้น เราไม่ได้จะกลายเป็นตัวประหลาดหรือกลายเป็นคนแย่ๆ ไปทันที หากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึก 'ไม่อยากทำอะไรเลย'
.
ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ มีใครอีกหลายคนที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราเองก็ไม่ต่างกัน เราเป็นมนุษย์ เราผิดพลาดกันได้ เราท้อกันได้ เราหมดแรงกันได้ ในบางที เราอาจเพียงต้องการเวลาให้ตัวเองสักนิด แล้วก่อร่างสร้างแรงใจในชีวิตขึ้นมากันใหม่
.
ยิ่งถ้าคุณอ่านมาถึงประโยคสุดท้ายนี้ ก็แสดงว่าคุณไม่ได้ไร้แรงจูงใจในชีวิตตัวเองขนาดนั้นหรอก ปรบมือให้กับตัวเองที่อ่านบทความนี้จนจบ แล้วออกไปสร้างพลังในชีวิตให้เกิดขึ้นอีกครั้งกันเถอะ!
 
 
 
ที่มา : BrandThink
https://www.facebook.com/brandthink.me/

 
 
 
Visitors: 1,405,373