อยากมินิมอล แต่ที่บ้านชอบสไตล์มินิมาร์ท เหตุผลของคนไม่ยอมทิ้ง และวิธีอยู่ร่วมกัน

อยากมินิมอล แต่ที่บ้านชอบสไตล์มินิมาร์ท เหตุผลของ ‘คนไม่ยอมทิ้ง’ และวิธีอยู่ร่วมกัน

 

ชอบบ้านมินิมอลสีขาว มีต้นไม้วางอยู่ตามมุมห้อง มีข้าวของแค่พอจำเป็น แต่ตัดภาพมาที่ความเป็นจริง กองถุงพลาสติกที่แม่เก็บเอาไว้ ‘เผื่อได้ใช้’ เริ่มสูงเหมือนภูเขา กล่องเครื่องใช้ไฟฟ้าอายุนานนับสิบปีที่พ่อบอกว่า ‘เผื่อต้องส่งซ่อม’ ก็เริ่มยึดพื้นที่บ้าน ไหนจะเก้าอี้ไม้ตัวเก่าที่ต่อให้เราซื้อเก้าอี้นวมมาให้แล้วก็ไม่ยอมทิ้งสักที จะทำยังไงดีนะ

 

พฤติกรรมที่คนที่บ้านมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณของโรค Hoarding Disorder หรือที่เรียกกันว่าโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของก็ได้นะ สัญญาณต่างๆ ที่บ่งบอกถึงอาการของโรคนี้ ที่ทาง National Health Service UK ได้รวบรวมไว้ให้ไว้ก็คือ

  • ชอบเก็บของ ไม่ว่าของนั้นจะมีมูลค่าหรือไม่
  • ถึงจะชอบเก็บของ แต่ไม่ชอบการจัดเก็บของเลย
  • มีปัญหาการตัดสินใจ
  • มีปัญหาเรื่องการจัดการชีวิตตัวเอง
  • หวงของมาก ไม่ว่าใครก็ห้ามหยิบยืมไปใช้
  • ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวไม่ราบรื่น

 

โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งถูกเพิ่มในหมวดโรคทางจิตเวชเมื่อปี ค.ศ.2013 อาการของโรคคืออยากเก็บของเอาไว้ทุกอย่าง ตัดสินใจทิ้งของชิ้นไหนไม่ได้เลย ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต หรือเป็นของที่มีคุณค่าทางใจ (แม้ว่าจะเป็นแค่แก้วน้ำธรรมดาหนึ่งใบ) มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บสิ่งของ วางของได้ทุกที่ระเกะระกะไปหมด จนสุดท้ายจบที่บ้านไม่เหลือพื้นที่สำหรับทำอะไรเลย

 

ในยุคนี้ที่บ้านมินิมอลกำลังมาแรง ไม่ว่าใครก็อยากมีบ้านสวยสะอาดตา แต่พอมองไปแล้วเจอแต่สิ่งของที่คนในบ้านเก็บเอาไว้ก็เหมือนจะกลายเป็นมินิมาร์ทไปแล้ว จะเอาไปทิ้งก็ไม่ได้ ทิ้งทีไรเป็นต้องบ้านแตก สงสัยบ้านมินิมอลจะเป็นเพียงแค่ฝันแล้วล่ะ

 

ดูแลใจตัวเองก่อน เดี๋ยวค่อยสู้กัน

หลายคนอยู่กับกองสิ่งของจนเกิดความเครียด บ้านแทบจะไม่มีทางเดิน ทุกพื้นที่ราบจะต้องมีสิ่งของวาง เปิดตู้แต่ละทีก็ต้องเอาของที่วางขวางหน้าตู้ไปไว้ที่อื่นก่อน ปัญหาเหล่านี้อาจฟังดูเล็กน้อย แต่ถ้าต้องเจอกับมันทุกวันก็นำมาสู่ความเครียดได้

ดังนั้น ขั้นตอนแรกของการอยู่กับคนช่างเก็บนั่นคือการ ‘จัดการกับความรู้สึกของตัวเอง’ หาพื้นที่ที่ตัวเองสบายใจก่อนเป็นอันดับแรก ถ้ามีห้องส่วนตัวก็สร้างพื้นที่มินิมอลเล็กๆ ของเราให้อยู่แล้วมีความสุข ถ้าหากเป็นคนชอบเล่นเกม ก็อาจเล่นเกมจัดบ้าน สร้างบ้านในฝันของตัวเองในเกมไปก่อน หรือออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเลยก็ได้ ทำทุกอย่างเพื่อให้จิตใจของเราสบาย สุขภาพจิตที่แข็งแกร่งคือสิ่งแรกที่ต้องมีก่อนจะไปต่อสู้กับสิ่งของกองพะเนิน

 

อย่าแอบทิ้ง ‘รวดเดียว’ แต่ให้แอบทิ้ง ‘โดยไม่ให้รู้ตัว’

วิธีแก้ปัญหาสุดคลาสสิกที่น่าจะผุดขึ้นมาในใจใครหลายคนอาจเป็นการ ‘ส่งคนที่บ้านไปเที่ยวสัก 5 วัน แล้วจัดการทิ้งให้หมดนี่เลย’ แต่เราบอกก่อนว่านั่นเป็นวิธีที่ผิดมหันต์ ลองคิดดูว่า แค่เราบอกให้เขาทิ้ง บ้านยังแทบจะแตก ถ้าเราส่งเขาไปเที่ยวแล้วกลับมาไม่เจออะไรเลย บ้านจะไม่แหลกสลายเป็นล้านๆชิ้นเลยเหรอ

เก็บไอเดียของการแอบทิ้ง ‘รวดเดียว’ เอาไว้ก่อน แล้วมาลองกลยุทธ์ใหม่ของการแอบทิ้ง ‘โดยไม่ให้รู้ตัว’ ที่อาจใช้เวลาหน่อย แต่เราเชื่อว่าสักวันมันจะต้องสำเร็จแน่นอน

เริ่มจากการสำรวจดูว่าเราอยากกำจัดสิ่งของตรงไหน เริ่มจากพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน ที่ไม่ควรจะมีสิ่งใดวางระเกะระกะเลยก่อนก็ได้ ของชิ้นไหนที่วางอยู่นานมากแล้วโดยที่คนที่บ้านไม่สนใจจะแตะต้องมันเลย หรือที่เรียกกันว่า ‘เก็บลืม’ นั่นแหละ ของเก็บลืมพวกนี้จะเป็นเป้าหมายแรกของเราด้วยการหยิบพวกมันไปซ่อนเอาไว้ก่อน (แม้จะอยากทิ้งแค่ไหน อย่าเพิ่งทิ้ง!)

ถ้าเวลาผ่านไปเป็นเดือนโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวว่าของเก็บลืมของพวกเขา ‘หายไป’ ก็ถือว่าปลอดภัยที่จะเอาไปทิ้ง เพราะพวกเขาน่าจะลืมไปแล้วว่าเคยเก็บของชิ้นนี้ไว้ ทำแบบนี้ต่อไปจนพื้นที่ที่อยากจะเคลียร์เริ่มโล่งสะอาดขึ้น

แต่ถ้าวันไหนคนที่บ้านถามว่าเราเห็นของชิ้นนี้บ้างไหม อย่าเพิ่งตกใจ อย่าหยิบให้เขา เพียงเอากลับไปวางให้เนียน แล้วบอกพวกเขาว่า “อ๋อ เห็นล่าสุดก็อยู่ตรงโต๊ะในครัวมั้ง” แล้วคอยสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาว่าหลังจากรู้ตำแหน่งของสิ่งของแล้ว พวกเขาเอาไปเก็บไว้ที่ไหนต่อ

ถ้าเป็นพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขา ไม่ใช่พื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน ก็ถือว่าเรากำจัดของชิ้นนั้น ‘ไปให้พ้นสายตา’ได้อยู่ (ถึงแม้จะกำจัดมันออกไปให้พ้นบ้านไม่ได้) แต่ถ้าวางที่เดิมก็อย่าเพิ่งท้อ หาเป้าหมายถัดไปแล้วค่อยเริ่มใหม่ด้วยวิธีเดิม


 

คุยกันอย่างเข้าใจ ชี้ให้เห็นผลเสียของการเก็บเยอะเกินไป

แต่ถ้ายุทธการแอบทิ้งทีละนิดยังไม่ได้ผล เพราะยิ่งมีพื้นที่ คนที่บ้านก็ยิ่งซื้อของมาเก็บไว้เพิ่ม คงต้องคุยกันสักหน่อยแล้ว ลองอธิบายให้เขาเข้าใจว่าการมีของในบ้านเยอะเกินนั้นมีแต่ผลเสีย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาด ของที่กองสุมกันนั้นเป็นที่อยู่ชั้นดีของแมลงและสัตว์ไม่พึงประสงค์ หรือจะเป็นเรื่องภาพลักษณ์ด้วยการถามพวกเขาดูว่ารู้สึกอย่างไรถ้ามีคนมาบ้านเราแล้วมาเห็นสิ่งของเหล่านี้ และถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา สิ่งของที่เก็บไว้ก็จะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเราได้ หากไฟไหม้ พวกมันก็จะติดไฟอย่างรวดเร็ว หรือหากมีเหตุให้ต้องอพยพออกจากบ้าน พวกมันก็จะขัดขวางทางเดิน ทำให้การอพยพออกไม่สะดวก

แต่การพูดคุยกับพวกเขานั้นก็ต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวล เน้นอธิบายให้เข้าใจ อย่าใส่อารมณ์ไม่พอใจ (แม้เราจะไม่พอใจจริงๆ) โรคนี้เมื่อเป็นแล้วใช้เวลาในการรักษา คนที่อยู่ด้วยก็ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจกัน

 

มอบพื้นที่สบายใจ และทวงคืนพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกัน

หลังจากอธิบายให้พวกเขาฟังถึงผลเสียแล้ว ลองสร้างข้อตกลงกับพวกเขาด้วยการให้พื้นที่สบายใจพวกเขาในการเก็บสิ่งของ และพื้นที่นั้นจะต้องไม่รบกวนชีวิตและสายตาของเรา แบ่งพื้นที่ตู้ที่ปิดมิดชิดตู้หนึ่งให้พวกเขา หรือจะเป็นลิ้นชักสักหนึ่งชั้นก็ได้ จะเก็บอะไรไว้ในนั้นก็เก็บได้เลย เพื่อที่ไม่ให้พวกเขารุกรานพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน อยากเก็บอะไร ให้เก็บในพื้นที่ของตัวเอง

เมื่อให้พื้นที่สบายใจแล้ว ก็เริ่มทำข้อตกลงกับพวกเขาว่าพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน และต้องใช้บ่อยอย่างห้องน้ำหรือห้องครัว จะต้องเคลียร์ออกให้หมด ไม่เต็มไปด้วยสิ่งของเหมือนเดิม แต่เราก็ต้องไม่ปล่อยให้พวกเขาทำความสะอาดเอง เราต้องลงมือช่วยพวกเขาด้วย เพื่อความรวดเร็วและการเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพ หากระหว่างการเคลียร์ข้าวของ เราบังเอิญเจอสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายได้ อย่างสารเคมี ของมีคม ของที่ติดไฟได้ หรือของที่ล่อสัตว์ไม่พึงประสงค์เข้ามาได้ โยนทิ้งไปได้เลย ไม่ต้องคิดมาก

 

พาไปพบแพทย์

วิธีที่ดีที่สุด (แต่ก็อาจจะยากที่สุดเช่นกัน) คือการพาพวกเขาไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นโรคชอบสะสมสิ่งของมักจะไม่รู้ตัวว่าพวกเขาเป็นโรคนี้อยู่ พวกเขาจะคิดว่าพวกเขาเป็นคนสะอาดและมีระเบียบ และบอกอย่างไรก็จะไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ก็เลยทำให้ยากที่จะพาพวกเขาไปพบแพทย์ได้ แต่ถ้าเกลี้ยกล่อมได้ผลแล้วพวกเขายอมเข้ารับการรักษาก็จะเป็นเรื่องดี

 

การอยู่ร่วมกับคนชอบเก็บสะสมสิ่งของนั้นเป็นเรื่องที่หนักใจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก เพียงแค่ต้องใช้เวลานานหน่อยเท่านั้นเอง

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

thematter

alure

nextavenue

 

Post : Woranit Hirunpong 

Illustration by Manita Boonyong

 

ที่มา : the matter
https://thematter.co/social/hoarding-disorder-2/174549

 

 

Visitors: 1,217,410