Hit the wall หรือ อาการชนกำแพง

‘Hit the wall’ ความรู้สึกของคนสู้ชีวิตแทบตาย แต่ไปไม่ถึงไหน จนพลังใจหายหมด
 
 
 
Hit the wall หรือ อาการชนกำแพง เป็นคำศัพท์ในวงการนักวิ่ง หมายถึงอาการที่ก้าวขาไม่ออก หมดเรี่ยวแรง จนต้องยอมทิ้งเป้าหมายข้างหน้าลง มักเกิดจากการออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นเวลานาน
.
แต่อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานหนักเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก หรือการหลีกหนีออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จนเรารู้สึกท้อ พร้อมที่จะยอมแพ้ เพราะไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
.
อย่างไรก็ตาม อาการหมดแรงก่อนจะไปถึงเส้นชัย ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ไปซะหมด แต่เป็นเหมือนสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่า การที่เราไม่สามารถวิ่งต่อไปได้นั้น เป็นเพราะเกิดปัญหาขัดข้องจากอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดอาการที่ว่านี้ ให้เราหยุดพัก และค้นหาสาเหตุของปัญหานั้นๆ เพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขต่อไป
.
และนี้ คือ 5 สาเหตุ และแนวทางการแก้ไข เมื่อเราเกิดอาการชนกำแพง มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
.
1. เกิดภาวะ Hit the Plateau: Hit the Plateau หรือภาวะน้ำหนักนิ่ง คืออาการของน้ำหนักที่นิ่งอยู่เท่าเดิมเป็นเวลานาน แม้ว่าเราจะพยายามลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย หรือควบคุมอาหารมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็ยังคงเดิม เช่นเดียวกับคนที่ลงมือทำอะไรสักอย่างด้วยความทุ่มเท จนเห็นผลแล้วในระยะหนึ่ง แต่เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ กลับไม่เป็นตามที่คาดหวัง มิหนำซ้ำยังแย่ลงกว่าเดิม
.
แนวทางแก้ไข: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการออกกำลังกาย เรียนรู้วิธีการใหม่ๆ และนำมาปรับใช้กับตัวเอง เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป
.
2. หมดไฟ เหนื่อยล้า (Burnout): เกิดจากการทำทุกอย่างภายใต้แรงกดดัน ว่าเราต้องรีบทำให้เสร็จ ทำให้ได้เยอะกว่าใครๆ จนต้องทำงานล่วงเวลาติดต่อกันหลายวัน เมื่อร่างกายและสมองไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็ย่อมส่งผลให้ตัวเราเกิดความอ่อนล้าได้ง่ายและเร็วกว่าคนอื่นๆ
.
แนวทางแก้ไข: ลดความกดดันในการทำงานให้น้อยลง หาเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนมากขึ้น และค่อยๆ ทำทุกอย่างไปตามขั้นตอน โดยไม่ต้องเร่งรัดจนเกินไป
.
3. หมดหนทาง/ขาดทักษะในการแก้ปัญหา: ทั้งเรื่องงาน ความสัมพันธ์ การใช้ชีวิต คิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล
.
แนวทางแก้ไข: ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ เพราะถ้ามัวแต่หวังพึ่งตัวเอง เราก็จะจมปลักอยู่ที่เดิม ไม่สามารถเคลื่อนตัวไปไหนได้
.
4. ขาดความร่วมมือจากบุคคลรอบข้าง: ในขณะที่เราพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในความสัมพันธ์ แต่คู่ของเรากลับเมินเฉย ไม่แม้แต่จะเอ่ยชื่นชมเวลาที่เราทำอะไรสำเร็จ หรือในตอนที่เราลงมือทำอะไรบางอย่าง ที่คนอื่นไม่ค่อยจะเห็น แต่จะมาเห็นอีกทีตอนที่เราไม่ได้ทำอะไรแล้ว
.
แนวทางแก้ไข: เปิดใจกับทุกคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ของเรา กล้าแสดงออกให้คนอื่นรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร อย่าเอาแต่ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นตัดสิน
.
5. ความไม่มั่นคงของจิตใจ: เกิดจากความแปรปรวนของอารมณ์ เมื่อวานรู้สึกดีกับงานที่ทำอยู่ วันนี้กลับรู้สึกแย่ ไม่อยากทำ และกังวลว่ามันจะฉุดรั้งไม่ให้เราไปไหนได้ หากเรารู้สึกเช่นนี้ อาจจะเกิดจากสภาพจิตใจ ทัศนคติ หรือเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน ว่าแท้จริงแล้วเราต้องการใช้ชีวิตอย่างไรกันแน่
--------------
แทนที่จะหมกมุ่นกับปัญหาเหล่านั้น ให้เราลองหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เรารู้สึกไขว้เขวดูว่า สามารถแก้ไขได้อย่างไร เช่น หากกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร อย่ามัวแต่เขินอาย หรือกลัวจะถูกมองว่าไม่เก่ง เข้าไปพูดคุยกับหัวหน้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้โดยตรง เพื่อให้งานออกมาสำเร็จ และคลายความรู้สึกกังวลในใจออกไปได้
.
นอกจากสาเหตุที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนให้เราเกิดอาการชนกำแพง หรืออาการหมดแรงก่อนจะไปถึงเส้นชัยได้ สิ่งสำคัญ คือ ให้คิดเสมอว่าไม่มีปัญหาใดที่ไม่มีทางแก้ไข เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุของปัญหานี้แล้ว ลองหยุดพักเพื่อทบทวนตัวเองดูสักหน่อย ก่อนจะออกวิ่งอีกครั้ง วิธีหนีก็จะช่วยให้เราไม่ไปวิ่งชนกำแพงได้เช่นกัน
.
อ้างอิง: What to Do When You Hit the Wall: 5 Causes and Solutions. https://citly.me/VCH6L
 
 
 
Visitors: 1,409,246