“ฮีทสโตรก” อันตราย ในหน้าร้อน
“ฮีทสโตรก” อันตราย ในหน้าร้อนในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และสิ่งที่ตามมาคืออาการป่วยอที่มาพร้อมอากาศร้อนอย่าง "ฮีทสโตรก” (Heat stroke) ซึ่งทำให้ตัวร้อนมากกว่า 40 องศา หน้ามืด หายใจเร็ว ไปจนถึงขั้น ช็อก หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ โดยอาการของกลุ่ม “ฮีทสโตรก” ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ป่วยที่อยู่กลางแดดนาน ๆ และมีอุณหภูมิกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับภาวะที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป เช่น อาจจะหมดสติหรือมีภาวะชักได้ ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นลมปกติ โดยที่ประวัติที่แตกต่างกันเลยคือ ผู้ป่วยที่เป็นลมปกติไม่ได้อยู่กลางแดด
ภัยจากอากาศร้อนมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมาก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ได้แก่ คนไข้ที่มีอาการตั้งแต่การบวมเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า คนไข้ที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนหัว
ผู้ป่วยที่มีอาการมาก ได้แก่ กลุ่มคนไข้ที่มีอาการขาดน้ำจากการสูญเสียความร้อนเยอะ และอีกกลุ่มคือกลุ่มฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด เป็นกลุ่มที่รุนแรงที่สุด
ฮีทสโตรกสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ความร้ายแรงของฮีทสโตรก คือ ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจะทำให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยความผิดปกติเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ อันนี้เป็นอาการเริ่มต้น หลังจากนั้น ถ้าเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ก็จะทำให้เกิดอาการฮีทสโตรก ก็จะมีอาการที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป อาจจะมีภาวะชัก หรือว่าการหมดสติจากการที่หัวใจเราเต้นผิดจังหวะได้ และสุดท้ายคือเสียชีวิตได้
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง มี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ผู้ที่ทำงานก่อสร้างหรือออกกำลังกาย 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4. ผู้ที่มีภาวะอ้วน 5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนและนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อกลไกควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย 6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรค "ฮีทสโตรก" อย่างแรกคือ ต้องดูว่าคนไข้มีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไปหรือไม่ ถ้ามีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ให้ไปคลำชีพจรดูว่าการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติดีอยู่ สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่มได้ และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ รีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้น้ำแข็ง หรือการใช้ cool blanket คือ การใช้ผ้ายาง ใส่น้ำแข็งลงไป แล้วให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในตรงนั้น ถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมได้
หากใช้เป็นผ้าชุบน้ำ ในคนไข้ที่เป็นโรคกลุ่ม "ฮีทสโตรก" มักจะไม่ค่อยได้ผล แต่สามารถใช้ได้ โดยการเช็ดตัวให้เช็ดตัวเหมือนผู้ป่วยที่เป็นไข้ คือเช็ดสวนขึ้นมาเข้าทางหัวใจ เช็ดทางเดียว และเปิดพัดลม
คำแนะนำจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ได้แก่ 1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี 2.ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 3.ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ 4.สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง 5.ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก 6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 7.อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก 8.ผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม
หากสงสัยผู้มีอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรงหรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา : ฮีตสโตรกจากอากาศร้อน อันตรายถึงชีวิต : Rama Square (Better to know) กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน 6 กลุ่มเสี่ยง ระวังอันตรายจากอากาศร้อน อาจเสี่ยงป่วยโรคฮีทสโตรก |