นักพฤฒาวิทยาด้านชีวโมเลกุลอ้าง มนุษย์สามารถอายุยืนได้ถึง 20,000 ปี
นักพฤฒาวิทยาด้านชีวโมเลกุลอ้าง มนุษย์สามารถอายุยืนได้ถึง 20,000 ปี
เวลาพูดถึงนักพฤฒาวิทยา (สหวิทยาการที่ศึกษาทุกแง่มุมของการแก่ชราของมนุษย์) หรือในภาษาอังกฤษว่า ‘Gerontology’ นั้นเราจะมีการแยกย่อยออกเป็นหลายแขนง ซึ่ง ‘ชีววิทยาโมเลกุล’ เป็นหนึ่งในสาขาวิชานั้น และหนึ่งในนักพฤฒาวิทยาสาขาชีวโมเลกุลชื่อ เชา เปโดร เดอ มากาแยช (João Pedro de Magalhães) ผู้ทำงานอยู่ที่สถาบันการอักเสบและความแก่ชรา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ก็เพิ่งให้ข้อมูลที่น่าตื่นตะลึงนั่นคือ เขาให้สัมภาษณ์กับวารสารชั้นนำอย่าง Scientific American ว่า มนุษย์นั้นสามารถอายุยืน ‘หมื่นปี’ ได้จริงๆ ซึ่งบทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ในปลายเดือนกรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา ไอเดียของนักชีววิทยาโมเลกุลผู้นี้คือ ในทางทฤษฎีนั้นโรคชราเกิดจาก ‘โปรแกรม’ ทางชีววิทยาที่ทำให้มนุษย์เราโตเป็นผู้ใหญ่ แก่ และตายในที่สุด ซึ่งถ้าเรา ‘แฮก’ โปรแกรมที่ว่านี้ได้ ความแก่ชราจะจบลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รหัสพันธุกรรมมนุษย์มันเหมือนรหัสคอมพิวเตอร์ ถ้าเราไป ‘แก้โค้ด’ บางส่วนได้ ความแก่ชราตามธรรมชาติจะจบลง ซึ่งไอ้การแก้โค้ดที่ว่านี้คือขอบข่ายการศึกษาของชีววิทยาโมเลกุลโดยตรงนั่นเอง แน่นอน นี่ฟังดูบ้าบอมาก ใครฟังก็คงว่าบ้า แต่นี่คือ ‘นักวิจัย’ ที่จริงๆ ทำวิจัยเปรียบเทียบอายุขัยของสัตว์ชนิดต่างๆ มายาวนาน และจริงๆ คือเขาพยายามจะถอดรหัสพันธุกรรมของพวกสิ่งมีชีวิตที่อายุยืนกว่าปกติ เช่นพวกตุ่นหนูไร้ขน หรือวาฬบางชนิด และสิ่งที่เขาทำให้เห็นคือ มันไม่ใช่เรื่อง ‘ร่างกาย’ หรือ ‘ฮาร์ดแวร์’ แต่มันเป็นเรื่อง ‘รหัสพันธุกรรม’ หรือ ‘ซอฟต์แวร์’ ต่างหากที่จะกำหนดว่าสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ จะอายุยืนได้แค่ไหน พูดอีกมุมคือ เขาไม่พอใจเทคนิคพื้นๆ ในการยืดอายุที่วิจัยกันทุกวันนี้ ที่จริงๆ ก็ยอมรับตรงกันแล้วว่าต่อให้มนุษย์สามารถกำจัดโรคได้ทุกโรค อายุมนุษย์ก็น่าจะอยู่ไปได้ไม่เกิน 115-120 ปีอยู่ดี ถึงจุดนั้นยังไงก็ต้องแก่ตาย การจะทำให้อายุมนุษย์ยืนยาวไปกว่านั้นมันต้องการการแก้ไขที่ลึกกว่ายารักษาโรคและการบำบัดที่เคยมีมา ซึ่งสิ่งที่เขาพูดจนทำให้คนสัมภาษณ์อึ้งก็คือ การตอบคำถามว่าเขาคิดว่า มนุษย์จะอายุยืนได้แค่ไหน ถ้าการ ‘ปลดล็อกรหัสพันธุกรรม’ ที่ว่าเกิดขึ้น? คำตอบของนักวิชาการคนนี้คือ อายุ 1,000 ปีนั้นน่าจะขำๆ และการอายุยืนไปถึง 20,000 ปี ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้ ความหมายอีกอย่างก็คือ ถ้าเราปลดล็อกแล้ว มนุษย์อาจเป็นอมตะได้ด้วยซ้ำ เพราะมันจะทำให้มนุษย์ ‘แก่ตาย’ ไม่ได้อีกต่อไป แต่คำถามคือ สิ่งที่จะเกิดหลังจากแก้ไขพันธุกรรม เราจะยังเรียกมนุษย์ว่า ‘มนุษย์’ ได้อยู่หรือไม่? แต่นี่ก็น่าจะเป็น ‘คำถามทางปรัชญา’ มากกว่า ‘คำถามทางวิทยาศาสตร์’ เพราะสุดท้ายถ้าความตายมันจบสิ้นไป กรอบความคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตายของมนุษย์นั้นก็คงต้องเปลี่ยนไปหมด หรือพูดอีกแบบมันจะทำให้สิ่งที่เราเรียกว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่เรารู้จักมันจบสิ้นลงไป ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ แต่นั่นก็น่าจะไม่ใช่คำถามหรือกระทั่งปัญหาสำหรับนักวิทยาศาสตร์อยู่ดี อ้างอิง
ที่มา : https://www.brandthink.me/content/gerontology
|