เล่นเกมไม่ได้ไร้สาระเสมอไป! ผลวิจัยพบ ‘เกมเมอร์’ พัฒนาทักษะสมอง และการตัดสินใจได้สูงกว่าคนทั่วไป

เล่นเกมไม่ได้ไร้สาระเสมอไป! ผลวิจัยพบ ‘เกมเมอร์’ พัฒนาทักษะสมอง และการตัดสินใจได้สูงกว่าคนทั่วไป
 
.
แม้การ ‘เล่นเกม’ จะเป็นงานอดิเรกหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง เมื่อมองด้วยแว่นของวิทยาศาสตร์ เกมคือกิจกรรมที่มีผลวิจัยตอบรับในแง่ดีไม่น้อยเลย โดยเฉพาะผลดีกับสมอง
.
ล่าสุดมีผลวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Neuroimage: Report ในเดือนกันยายนี้ ซึ่งค้นพบว่า ผู้เล่นเกมมีแนวโน้มที่จะมีทักษะการตัดสินใจได้ดีกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังได้เพิ่มทักษะการทำงานของสมองอีกด้วย
.
ที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการเล่นวิดิโอเกมมีส่วนเชื่อมโยงในการพัฒนาสมองส่วนความทรงจำ ความสนใจ การสับเปลี่ยนหน้าที่ การคิดรายละเอียดในเชิงพื้นที่ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจว่าการเล่นเกมส์มีผลกระทบต่อสมองอย่างไรบ้าง
.
งานวิจัยนี้นำโดย ทิโมธี จอร์แดน นักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral researcher) ด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจอลิส และ มูเกชท์ ดามาลา รองศาสตราจาร์ยด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ สถาบันประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย
.
การวิจัยศึกษาในผู้เล่นเกมจำนวน 47 คน ที่เล่นเกมอย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแบ่งประเภทผู้เล่นเกมโดยยึดจากประเภทเกมที่เล่นออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ผู้เล่นเกมแนวต่อสู้มุมมองบุคคลที่ 1 (FPS), ผู้เล่นเกมแนววางแผนการรบ (RTS) ผู้เล่นเกมแนววางแผนเรียลไทม์ (MOBA) และผู้เล่นเกมแนวเอาผสมผสานวิธีเอาชีวิตรอด (Battle Royale) และทดลองโดยใช้วิธีสแกนสมองควบคู่ไปด้วย (fMRI และ left-right moving dots task)
.
ผลลัพธ์คือ เกมเมอร์มีความแตกต่างด้านสมอง รวมถึงความสามารถด้านการตัดสินใจ แตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้เป็นเกมเมอร์ (หรือคือกลุ่มคนที่เล่นเกมน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่ได้เล่นเลย) ดังนี้
.
เกมเมอร์โดยมีอัตราความถูกต้องของการตัดสินใจสูงกว่า และใช้เวลาในการตอบสนองน้อยกว่า
สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการรับรู้การสัมผัสและการเคลื่อนไหว (Sensorimotor) และการประมวลผลของของกระบวนการรับรู้ มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงกว่า
.
การศึกษานี้ใช้ขั้นตอนเพื่อทำความเข้าใจว่าการเล่นวิดีโอเกมส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร อย่างไรก็ตาม งานวิจัยมีข้อจำกัดที่ควรทราบ นั่นคือการศึกษานี้ไม่ได้เป็นศึกษาระยะยาว (Longitudinal studies) จึงอาจเป็นไปได้เช่นกันว่า ความแตกต่างด้านความรู้ความเข้าใจ สามารถเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการเล่นวิดีโอเกม
.
และแม้งานวิจัยชิ้นนี้จะสนับสนุนว่าการเล่นเกมอาจช่วยพัฒนาสมอง แต่ท้ายที่สุด ในการเล่นเกม เช่นเดียวกับกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ คือควรมีการแบ่งเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละคน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
.
อ้างอิง: Psypost. People who play video games tend to have superior sensorimotor. https://bit.ly/3SbSNeP
ScienceDirect. Video game players have improved decision-making abilities and enhanced brain activities. https://bit.ly/3qRaWTE
.
 
 
 
 
Visitors: 1,212,691