จากกรณีที่ ครอบครัวของบรูซ วิลลิส นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง วัย 67 ปี ที่มีผลงานการแสดงมากมายจนกลายเป็นที่รู้จัดทั่วโลก อย่าง Die Hard ออกมาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ว่า เขาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็น โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia; FTD) ขณะที่ก่อนหน้านี้ปลายปี 2565 ได้ ประกาศถอนตัวจากงานแสดงทั้งหมด หลังมีภาวะ “อะเฟเซีย (Aphasia)” หรือภาวะบกพร่องในการสื่อสารจนต้อง ประกาศถอนตัวจากงานแสดงทั้งหมด
รู้จัก โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia; FTD)
FTD คือ ภาวะที่มีการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทบริเวณสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) และส่วนขมับ (Temporal lobe) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้ไม่บ่อยนัก Frontotemporal นั้นมากจากชื่อเรียกส่วนของสมองที่มักเสียหายในประเภทสมองเสื่อมนี้
- ส่วนของสมองส่วนหน้า (frontal lobes) จะอยู่ในตำแหน่งบริเวณหน้าผาก มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา การวางแผน และควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ โดยที่ส่วนมากแล้วพื้นที่ทางด้านซ้ายของสมองส่วนหน้าที่จะทำหน้าที่ควบคุมการพูดด้วย
- ส่วนของสมองด้านข้างบริเวณใกล้ขมับ (temporal lobes) พื้นที่สมองส่วนนี้มีหลายบทบาทด้วยกัน โดยที่ทางด้านซ้ายมักจะทำหน้าที่ตีความหมายของคำ และชื่อของสิ่งต่างๆ และทางด้านขวามักจะทำหน้าที่ควมคุมความสามารถในการจดจำใบหน้าและสิ่งต่างๆ
FTD เป็นภาวะที่เกิดเมื่อเซลล์ประสาทที่อยู่ในบริเวณสมองส่วนหน้าและ/หรือส่วนด้านข้างตาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วนต่างๆ มักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกและพฤติกรรม และความสามารถในการใช้และเข้าใจภาษา โดยที่อาการเหล่านี้จะแตกต่างไปจากการสูญเสียความทรงจำที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า เช่น อาการของโรคอัลไซเมอร์
สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทย่อย ตามกลุ่มลักษณะอาการความผิดปกติ 3 กลุ่มอาการหลัก ดังนี้
- มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม (Behavioral Variant)
- สูญเสียทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสาร (Progressive non-fluent aphasia)
- มีความบกพร่องของการเลือกใช้คำศัพท์ (Semantic Dementia)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ FTD จะพบได้น้อยกว่าสมองเสื่อมประเภทอื่นๆแต่มักตรวจพบในประชากรที่มีอายุระหว่าง 45 ถึง 65 ปี และยังมีโอกาสจะเกิดกับผู้หญิงและผู้ชายในสัดส่วนที่พอๆกัน
สำหรับอาการอะเฟเซีย(Aphasia) ที่ บรูซ วิลลิส เป็นก่อนหน้า นั้นกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่าเป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจะมีความบกพร่อง ในการใช้ภาษา โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มความผิดปกติด้านการสั่งการด้วยภาษา เช่น พูดไม่ออก สะกดคำผิด เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็นคำ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก
- กลุ่มความผิดปกติด้านความเข้าใจภาษา เช่น ฟังไม่เข้าใจ อ่านไม่เข้าใจ
- กลุ่มผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติทั้งด้านการสั่งการด้วยภาษาและความเข้าใจภาษา ทำให้มีลักษณะเงียบ เฉยเมย ไม่พูด และไม่เข้าใจภาษา
อย่างไรก็ตามหากพบอาการแสดงจากภาวะอะเฟเซีย และได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะให้ผลการรักษาดีกว่าการปล่อยอาการไว้ในระยะเวลานาน ควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาวะสมองเสื่อมแม้จะเป็นเรื่องยากแต่สามารถดูแลให้ดีที่สุดได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
- ควบคุมควานดัน ไขมันในเลือด และเบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และ กรมการแพทย์