ถอดรหัสลับดอกเบี้ยเงินกู้ MLR MOR MRR ที่คนเป็นหนี้ควรรู้

ถอดรหัสลับ ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR MOR MRR ที่คนเป็นหนี้ควรรู้ไว้

 

เชื่อว่า หลายคนคงเคยประสบปัญหาเหล่านี้ เวลาไปขอสินเชื่อที่ธนาคาร สถาบันการเงิน เราจะพบกับรหัสลับเหล่านี้ MLR MOR MRR ยิ่งฟัง ยิ่งง ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ขอสรุปความแบบง่ายๆ โดยก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จัก ดอกเบี้ย กันก่อน 

 

ดอกเบี้ย คือ เงินที่ผู้ให้กู้ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัททางการเงิน หรือบุคคลทั่วไป ขอเรียกเก็บเพื่อเป็นผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ โดยดอกเบี้ยมักจะคิดเป็นร้อยละ และมีอยู่ 2 ประเภท คือ 

 

 

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ หรือ Fixed Rate คือ หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้น หรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ หรือในช่วงเวลาที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อรถยนต์ ที่กำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% ตลอดระยะเวลาการผ่อน 4 ปี หรือสินเชื่อบ้านที่กำหนดดอกเบี้ยคงที่ 3.25% ระยะ 3 ปีแรก เป็นต้น 

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว หรือ Floating Rate คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราวๆ ไป เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR MOR และ MRR

 

สำหรับ MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ

ส่วน MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี

ขณะที่ MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตัว MRR นี่ที่เราจะพบได้บ่อย เช่น  MRR -0.25% ในสินเชื่อบ้าน 

 

ทั้งนี้ หลายคนก็คงถามต่อแล้ว มีจะมีวิธีคิดดอกเบี้ยอย่างไร เราจะยกตัวอย่างให้ดูง่ายๆ สมมติว่า ยอดสินเชื่อบ้านของเราอยู่ที่ 1,500,000 บาท ธนาคารกำหนดดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ ปีที่ 1-3 อยู่ที่ 5.42% และ ปีที่ 4 ขึ้นไปอยู่ที่ MRR -0.25% (ภายใต้สมมติฐาน MRR 7% และเงินกู้ที่ยอด 1,500,000 บาท)

 

วิธีการคำนวณ นำ 1,500,000 x 5.42% ก็จะได้ดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่ายในปีที่ 1-3 จะอยู่ที่ 81,300 บาทต่อปี 

ส่วนปีที่ 4 คิดดังนี้ นำ MRR 7% มาลบด้วย 0.25% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่ 6.75% จากนั้นเอา 1,500,000 x 6.75% ก็จะพบว่าดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในปีที่ 4 คือ 101,250 บาทต่อปี 

อย่างไรก็ตาม หากอ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราต้องรีบสำรวจ คือ เงินกู้ที่เรากำลังผ่อนส่งอยู่นั้น ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไร โดยเราสามารถค้นหาอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดไว้ได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารนั้นๆ

 

การเป็นหนี้ ไม่น่ากลัว แต่สิ่งที่เราควรมีคือ การบริหารจัดการหนี้ที่เป็นระบบ และการวางแผนการเงินที่ดี โดยสัดส่วนการผ่อนชำระหนี้ที่ดีนั้น ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนนั่นเอง 

 

 

Visitors: 1,429,848