ไขปริศนา 'น้ำหยดแรกของโลก' อาจไม่ได้มาจากอุกกาบาตพุ่งชน
ไขปริศนา 'น้ำหยดแรกของโลก' อาจไม่ได้มาจากอุกกาบาตพุ่งชน
งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นทฤษฎีใหม่ที่คาดว่าโลกของเราอาจมีองค์ประกอบของน้ำอยู่ตั้งแต่แรก ไม่ได้มาจากการถูกอุกกาบาตพุ่งชนอย่างที่เข้าใจ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเชื่อว่าทุกชีวิตทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ ล้วนมีจุดกำเนิดมาจาก 'น้ำ' แต่หากถามว่าน้ำบนโลกของเรามาจากไหน หนึ่งในทฤษฎีที่แพร่หลายที่สุดคือแนวคิดที่เชื่อว่า เคยมีดาวเคราะห์น้อยที่มีส่วนประกอบของน้ำหรือมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักได้พุ่งชนโลก จนเป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์สต้องการพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว พวกเขาเชื่อว่าการระบุช่วงเวลาการมี 'ไฮโดรเจน' บนโลก คือกุญแจสำคัญที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพราะถ้าไม่มีไฮโดรเจนก็จะไม่มีน้ำ และถ้าไม่มีน้ำ สิ่งมีชีวิตก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้
พวกเขาพยายามตรวจสอบอุกกาบาตหายากที่เรียกว่า 'เอ็นสตาไทต์คอนไดรต์' ซึ่งถูกสร้างขึ้นคล้ายกับโลกยุคแรกเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน เนื่องจากเชื่อว่าจะมีสภาพสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบของแร่ธาตุคล้ายคลึงกับโลกยุคแรกมากที่สุด ทีมวิจัยค้นพบว่า บนอุกกาบาตดังกล่าวมี 'ไฮโดรเจน' เป็นส่วนประกอบดั้งเดิมมาโดยตลอด ไม่ได้มาจากการปนเปื้อนภายนอก ทำให้พวกเขาอนุมานได้ว่าบนโลกในยุคแรกเริ่มก็มีไฮโดรเจนอยู่แล้ว และในวันที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน โลกเองก็คงสะสมไฮโดรเจนในปริมาณมากเพียงพอที่จะให้ก่อให้เกิดแหล่งน้ำขึ้นมาอยู่แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาครั้งนี้น่าจะไม่เพียงพอที่จะสามารถยุติการถกเถียงเกี่ยวกับแหล่งน้ำดั้งเดิมของโลกได้ แต่ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เอนเอียงมาสนับสนุนแนวคิดว่าน้ำกำเนิดจากโลกมากขึ้น
ที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/857303
|