'ฟ้าทะลายโจร' สรรพคุณทางยา รักษาอะไรได้บ้าง นอกจาก 'โควิด-19'
'ฟ้าทะลายโจร' สรรพคุณทางยา รักษาอะไรได้บ้าง นอกจาก 'โควิด-19'26 เมษายน 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทำความรู้จัก "ฟ้าทะลายโจร" และ "สรรพคุณฟ้าทะลายโจร" หนึ่งในสมุนไพรไทยที่นอกเหนือจากการช่วยร่วมรักษาผู้ป่วย "โควิด-19" ระยะเริ่มต้นแล้ว ยังมีสรรพคุณอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการป่วยต่างๆ ได้ไม่น้อย"ฟ้าทะลายโจร" สมุนไพรกำลังถูกกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงนี้ หลังมีการทดลองและวิจัยพบว่า "สรรพคุณฟ้าทะลายโจร" สามารถรักษาโรค "โควิด-19" ระยะเริ่มต้นได้ เมื่อใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หลายคนรู้จักฟ้าทะลายโจรจากคุณสมบัติเด่นนี้ ทว่า ฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณอื่นๆ ที่คนไทยใช้เป็นทางเลือกดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการป่วยต่างๆ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมสรรพคุณทางยาของฟ้าทะลายโจร ในมิติอื่นๆ มาให้ดูกัน
ฟ้าทะลายโจร มีชื่ออื่นๆ ที่ถูกเรียกต่างกันออกไป ทั้ง ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย "ฟ้าทะลายโจร" จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า "ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ เป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอด โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิดในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด" อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้ แต่มีการศึกษาพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำๆ (แอนโดรกราโฟไลด์ 11.2 มิลลิกรัม/วัน) กิน 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยป้องกันหวัดได้ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มียา หรือ วัคซีนใดที่จะตอบได้อย่างเต็มปากว่ารักษาหรือป้องกันได้จริง แต่จากการวิจัยเอกสารที่มีการทำการศึกษาวิจัยมากมายหลายฉบับทำให้เรามั่นใจว่า ฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดได้ และมีการส่งมอบเอกสารให้กับทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการระบาดระลอกแรก จนนำไปสู่การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดรายที่มีอาการน้อยและไม่มีอาการในโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพบว่า ผู้ที่มี "อาการน้อย" หลังจากได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นทุกราย โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ก็ไม่พบว่ามีอาการภายหลังและปลอดภัยดี ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้ แต่มีการศึกษาพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำๆ เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยป้องกันหวัดได้
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือมหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณเด่นคือ สามารถ "บรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ" ได้ โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่า "สมุนไพรฟ้าทะลายโจร" มีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี ในปี พ.ศ.2555 ได้มีข้อมูลงานวิจัย จากผู้ป่วยจำนวน 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ด้วย คำแนะนำในการใช้ฟ้าทะลายโจร สำหรับ บรรเทาอาการเจ็บคอ หรือ บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
- ห้ามใช้ ในผู้ที่มีอาการแพ้ ฟ้าทะลายโจร - ห้ามใช้ ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้
- หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง - หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และพบแพทย์ - ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) - ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้ - ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9 และCYP3A4
- อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ mahidol |