รู้ไหม มนุษย์อาจกินพลาสติก 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ เสี่ยงทั้งโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคตับ

รู้ไหม มนุษย์อาจกินพลาสติก 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ เสี่ยงทั้งโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคตับ

 


งานวิจัยหลายๆ ชิ้นเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ ‘ไมโครพลาสติก’ ค่อนข้างยืนยันแน่นอนแล้วว่า มนุษย์เราล้วนมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในร่างกาย
.
หลักฐานการดำรงอยู่นั้นมีตั้งแต่เรื่องราวการสุ่มตรวจปลาจำนวน 555 ชนิด พบไมโครพลาสติกในชนิดพันธุ์ปลากว่า 300 ชนิด ในจำนวนนั้นมีปลา 210 ชนิดที่เรานำมาวางไว้ในจานอาหาร
.
ในไทยก็เคยพบว่าปลาทูที่ใครหลายคนโปรดปราน มีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในกระเพาะเฉลี่ยตัวละเกือบ 80 ชิ้น
.
หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก คาดว่าภายในปี 2050 ขยะพลาสติกจะมีมากกว่าปลาในมหาสมุทร l ERIK FORSBERG
.
นอกจากในอาหารการกินหรือน้ำดื่ม ไมโครพลาสติกยังสามารถเดินทางเข้าสู่ร่างกายเราได้ผ่านข้าวของเครื่องใช้ มีเด็กทารกเป็นกลุ่มเสี่ยงใหญ่ที่รับไมโครพลาสติกผ่านการสัมผัสจุกยาง ขวดนม ของเล่น หรือช้อนลวดลายการ์ตูนน่ารักๆ
.
งานวิจัยชิ้นนั้นชี้ว่า สามารถตรวจพบไมโครพลาสติกในอึของเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่ 10-20 เท่า ซึ่งก็สามารถพูดได้ว่า เราต่างมีโอกาสรับเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้ตั้งแต่เด็กยันแก่
.
จากข้อมูลมากมายหลายแหล่ง ได้ถูกนำมาวิเคราะห์โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) ก็พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์อาจกินพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์
.
หรือหากเทียบน้ำหนักกับสิ่งของก็เท่าๆ กับเรากำลังกินบัตรเครดิตเข้าไปสัปดาห์ละใบ

แล้วเมื่อพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของเรา จะเกิดผล (ไม่ดี) อย่างไรบ้าง?
.
เร็วๆ นี้ งานวิจัยอีกชิ้นก็เผยให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์เผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไป สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นจะเคลื่อนที่ผ่านระบบลำไส้ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของไมโครไบโอมในลำไส้ได้
.
ในทางทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงาน เช่น เบาหวาน โรคอ้วน และโรคตับเรื้อรัง
.
หรือในอีกกรณี เรายังพบว่าไมโครพลาสติกในทางเดินอาหารสามารถดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อภายในร่างกายคนเราได้ด้วย สิ่งนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับการอักเสบภายใน และยังอาจสร้างปัญหาต่อระบบภูมิคุ้มกัน
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาโนพลาสติกมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง
.
จากการศึกษายังพบด้วยว่า ไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพที่รุนแรงเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่มีภาวะโรคเรื้อรัง
.
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นการคาดการณ์ทางทฤษฎี และบางส่วนก็มาจากการทดสอบกับสัตว์ทดลอง ซึ่งยังไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกับมนุษย์ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความแตกต่างของขนาดร่างกายและอวัยวะ
.
จากข้อมูลที่สาธยายมาทั้งหมด ก็คงไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมสำหรับการลงมือแก้ปัญหาเท่ากับตอนนี้อีกแล้ว
.
อนึ่ง ภายใต้โรดแมปการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของไทย ในปี 2565 นี้ ได้ประกาศให้มีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร (3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ (4) หลอดพลาสติก
.
อ้างอิง: The Guardian. More microplastics in babies’ faces than in adults’ – study. https://bit.ly/3NN0bMg
WWF. Your plastic diet. https://yourplasticdiet.org/
Science Daily. Health risk due to micro- and nanoplastics in food. https://bit.ly/3qNfIBX
มติชนออนไลน์. ตั้งเป้า 2565 ห้ามใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว-แก้วพลาสติกแบบบาง กล่องโฟม 100% https://bit.ly/3x83RlM
.
#พลาสติก #ไมโครพลาสติก
#nanoplastics #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow

 

ที่มา : BrandThink.me

 

Visitors: 1,430,163