22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ของทุกปี ประวัติ-เป้าหมาย


 22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ของทุกปี ประวัติ-เป้าหมาย

 

 

วันคุ้มครองโลก ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ผู้คนดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโลก ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ หรือการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลให่เกิดวาตภัย หรืออุทกภัยอย่างฉับพลัน

นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาโลก เช่นปัญหาการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก หรือ Green House Effect ปัญหาปริมาณโอโซนในบรรยากาศลดลง หรือปัญหาพลังงานของโลกที่จะต้องหามาทดแทนการใช้น้ำมัน เป็นต้น

ประวัติวันคุ้มครองโลก (Earth Day)

วันคุ้มครองโลก เป็นวันสำคัญของขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี วันคุ้มครองโลกถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 27 ปีก่อน ในวันที่ 22 เมษายน 2513

นักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการแสดงพลังครั้งใหญ่ เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันยิ่งถูกมนุษย์ทำลาย ในการแสดงพลังครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ล้านคนและปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ เกือบทั้งสหรัฐ หลังจากนั้นความห่วงใยปัญหาสภาพแวดล้อมของสหรัฐก็เพิ่มพูนขึ้น มีการออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ

สำหรับประเทศไทยเริ่มพูดถึงวันคุ้มครองโลกครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจากสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม และเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย ยังมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่า ที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย

วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกๆ ปี เป็นวันที่เรามีโอกาสรำลึกถึงสิ่งแวดล้อม และใคร่ครวญว่าเราจะต้องทำอะไรอีกบ้างเพื่อปกป้องของ ขวัญที่ธรรมชาติมอบแก่โลกของเราใบนี้ แม้ว่าจะไม่มีองค์กรกลางแห่งใดที่ทำหน้าที่เป็นองค์ก รหลักในการฉลองวันคุ้มครองโลก แต่มีองค์กรเอกชนหลายแห่งที่คอยสังเกตการณ์เกี่ยวกับ กิจกรรมตามโรงเรียนและสวนสาธารณะหลายพันแห่งที่จัดขึ้นในวันนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันคุ้มคองโลกแม้ว่าไม่มีประเทศใดที่ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำชาติ ในสหรัฐอเมริกา

วันดังกล่าวช่วยย้ำเตือนจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกของประชาชนทั่วประเทศและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความคิดที่จำกัดอยู่ในวงของพวก หัวอนุรักษ์เท่านั้น ได้ขยายออกมาสู่ชาวอเมริกันหมู่มากแล้ว ภายหลังวันสถาปนาวันคุ้มครองโลกในปีแรก รัฐบาลกลางก็ประกาศใช้กฎหมายฉบับสำคัญ สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (U.S. Environmental Protection Agency) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ตามด้วยการประกาศใช้กฎหมายอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Act) กฎหมายน้ำสะอาดปี พ.ศ. 2515 (Clean Water Act of 1972) และกฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ พ.ศ. 2516 (Endangered Species Act of 1973)

บทบัญญัติข้อหนึ่งในจำนวนบทบัญญัติหลายข้อที่มีผลกว้างไกลของกฎหมายเหล่านี้คือบทบัญญัติที่บังคับให้รถยนต์ต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว และวิ่งได้ระยะทางอย่างน้อยเท่าที่กฎหมายกำหนดต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอน ตลอดจนมีเครื่องฟอกไอเสียที่ช่วยลดปริมาณควันพิษที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ตามครัวเรือนนั้น ชาวอเมริกันเริ่มแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยบ่อยครั้งที่ลูกๆ มักเป็นคนเตือนพ่อแม่ให้ทำเช่นนั้น

พอถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ชุมชนหลายแห่งก็มี โครงการรีไซเคิล เมื่อถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 โครงการรีไซเคิลของเทศบาลเหล่านี้ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยจำนวนขยะที่เทศบาลต้องนำไปทิ้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด และกว่าร้อยละ 20 ของขยะในเขตเทศบาลของอเมริกาได้ถูกนำไปแปรรูปให้กลาย เป็นผลผลิตที่มีประโยชน์ บริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งเริ่มตระหนักมากขึ้นในความต้องการของผู้บริโภคและผลกำไรที่จะได้รับในตอนท้าย มักโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนกากของเสียจากอุตสาหกรรมลงด้วย

 

istock-945420216

 

 

ดังนั้นในวันที่ 22 เมษายน 2513 ประชาชนอเมริกันที่ตะนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ล้านคน จึงได้พร้อมใจกันมาชุมนุมเพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และ กำหนดให้ วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day โดยมีเป้าหมายดังต่อไปนี้คือ

เป้าหมายการกำหนดให้ วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก คือ

  1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
  2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
  3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
  4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
  5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
  6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
  7. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ

 

istock-1138823792

 

ในวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น
เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอนุรักษ์โลกใบนี้ไว้ เช่น

  1. การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น
  2. การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา
  3. รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
  4. เน้นการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม
  5. ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  6. ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ


ที่มา : ทุ่งสง ดอทคอม ,วิกิพีเดีย,สนุก! พีเดีย



Visitors: 1,429,841