UNTILWEALLWIN วิเคราะห์เหตุผล ไนกี้-อาดิดาส จับมือร่วมกัน แสดงจุดยืนต้านการเหยียดผิว
#UNTILWEALLWIN : วิเคราะห์เหตุผล "ไนกี้-อาดิดาส" จับมือร่วมกัน แสดงจุดยืนต้านการเหยียดผิว ไม่กี่วันที่ผ่านมา เราได้เห็นความร่วมใจ ในวงการกีฬา หลายองค์กรออกมาแสดงความเคลื่อนไหว ต่อต้านการเหยียดผิว หลังเกิดประเด็นการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ พลเมืองชาวสหรัฐอเมริกา หนุ่มผิวดำที่เสียชีวิต จากการถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม โดยตำรวจชาวสหรัฐฯ หนึ่งในความเคลื่อนไหว คือการจับมือของ แบรนด์กีฬาคู่ปรับชื่อดังระดับโลก อย่าง ไนกี้ และ อาดิดาส ที่ร่วมกันแถลงการณ์ และออกตัวชัดเจนว่า ขอยืนอยู่ตรงข้าม พฤติกรรมการเหยียดผิว มีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ ไนกี้ และ อาดิดาส หันมาร่วมมือกัน ต่อต้านการเหยียดผิว ติดตามไปพร้อมกับเรา แบรนด์ของความก้าวหน้า บทบาทของแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา นอกจากการขายเสื้อผ้า อย่างที่เราเข้าใจกันดี สิ่งหนึ่งที่นำเสนอผ่านภาพลักษณ์ของแบรนด์ คือการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่ ต้องเดินไปข้างหน้าอยู่เสมอ นอกจากเรื่องของนวัตกรรมผ่านสินค้า ที่พัฒนาให้เทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อแย่งชิงตลาดกลุ่มลูกค้า ภาพลักษณ์ทางสังคม คือสิ่งที่แบรนด์กีฬา พยายามแสดงออกอยู่เสมอว่า พวกเขาขอมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ไนกี้ และ อาดิดาส แข่งขันกัน แสดงถึงความเป็นแบรนด์ล้ำสมัย คงไม่สามารถแสดงภาพลักษณ์แบบอนุรักษ์นิยม ทางสังคม และการเมืองออกมาได้ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มเป้าหมาย ทางการตลาดของพวกเขา คือคนรุ่นใหม่ ที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ประเด็นต่อต้านการเหยียดผิว คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกพื้นที่ทั่วโลก ... สำหรับแบรนด์ระดับนานาชาติ อย่าง ไนกี้ และ อาดิดาส จึงจำเป็นที่ต้องออกมาสนับสนุน ต่อต้านการเหยียดผิว เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่มีความคิดก้าวหน้า รวมถึงแสดงออกว่า แบรนด์กีฬาคือแบรนด์ที่รวมทุกคน ให้เชื่อมโยงกันได้ แม้ว่าจะแตกต่างกัน ในเรื่องของสีผิว และเชื้อชาติ ไนกี้ เคยสร้างแคมเปญ ต่อต้านการเหยียดผิวสุดโด่งดัง ร่วมกับ โคลิน แคเปอร์นิค นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่เริ่มต้นแนวทาง คุกเข่าตอนเคารพธงชาติ เพื่อต่อต้านกระแสการเหยียดผิว ที่รุนแรงขึ้นในสังคมสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์คือแคเปอร์นิค ถูกแบนและถูกขับออกจากลีก NFL แต่สิ่งที่ไนกี้ทำ คือรีบต่อสัญญาแคเปอร์นิค ในการเป็นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ ถือเป็นการกระทำที่ห้าวหาญอย่างมากของไนกี้ เพราะเป็นการงัดข้อกับ NFL ที่พวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ รวมถึงก่อให้เกิดกระแสคว่ำบาตร แบรนด์ไนกี้ ในสหรัฐอเมริกา แต่ไนกี้ไม่สนใจ ทางแบรนด์ได้ชูแคมเปญ "เชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้จะหมายถึงการต้องเสียสละทุกสิ่ง" ร่วมกับแคเปอร์นิค เพื่อสะท้อนภาพของคนยุคใหม่ ที่ต้องเชื่อมั่นในอุดมการณ์ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง สอดคล้องกับสโลแกนประจำแบรนด์ "Just Do It" ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดนคนสหรัฐฯ ต่อต้านไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ที่ตามมา คือแบรนด์ไนกี้ มีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 190,000 ล้านบาทไทย) และมียอดจำหน่ายสินค้า เติบโตขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์ สำหรับแบรนด์กีฬา ต่อให้การออกมาต่อต้านการเหยียดผิว อาจไม่ถูกใจคนผิวขาวบางส่วน ที่ยังคงเห็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ... แต่จุดยืนของแบรนด์กีฬา คือแบรนด์นานาชาติ เพราะกีฬาคือสิ่งที่เชื่อมคนทุกคน โลกทั้งใบเข้าหากัน โดยไม่แบ่งด้วยเรื่องสีผิว, เชื้อชาติ, สัญชาติ การออกมาต้านการเหยียดผิวของ ไนกี้ หรือ อาดิดาส ในปัจจุบัน คือการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมที่สุดในฐานะแบรนด์กีฬา ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ และการจับมือกันระหว่างสองแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์กีฬา ดูดีมากยิ่งขึ้นไปอีก ภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์กีฬา จะนำมาด้วยผลประโยชน์มหาศาล เหมือนที่ไนกี้ เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว กำลังเสริมของนักกีฬา ไม่ใช่แค่แบรนด์กีฬา ที่มีส่วนกับการเคลื่อนไหว ประเด็นทางสังคม ... เหล่านักกีฬา คือหัวหอกสำคัญ ที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับจุดยืน และอุดมการณ์ รวมถึงการรณรงค์ต่อต้านพฤติกรรมเหยียดผิว ในครั้งนี้ ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีนักกีฬามากมายออกมาแสดงความเคลื่อนไหว ในโลกโซเชียล โดยเฉพาะนักกีฬาชื่อดังชาวสหรัฐฯ อย่าง เลบรอน เจมส์, ไมเคิล จอร์แดน, สเตฟเฟ่น เคอร์รี, เมจิค จอห์นสัน , คาร์สัน เวนซ์, เดอะ ร็อค, เบน โรธลิสเบอร์เกอร์ ล้วนออกมาแสดงจุดยืนชัดเจน ต่อต้านพฤติกรรมเหยียดผิว พร้อมสนับสนุนความคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ในเกมการแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีกา ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักฟุตบอลผิวสีบางราย ใช้โอกาสในการลงสนาม เพื่อแสดงจุดยืนต่อสู้กับการเหยียดผิว เช่น จาดอน ซานโช, เวสตัน แม็คเคนนี, มาร์คัส ตูราม นักกีฬาหลายคน ที่ออกมาเคลื่อนไหว อย่างหนักกับการต้านพฤติกรรมเหยียดผิว คือพรีเซนเตอร์ และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ของเหล่าแบรนด์กีฬา ดังนั้นแล้ว แบรนด์อย่าง ไนกี้ หรือ อาดิดาส ที่ออกมาเคลื่อนไหว จึงเปรียบเสมือนการสื่อว่า ทุกฝ่ายในวงการกีฬา จับมือพร้อมใจกันต่อต้านการเหยียดผิว ทั้งสองแบรนด์ ล้วนมีพรีเซนเตอร์เป็นนักกีฬาผิวสี เช่นไนกี้ มีโปรเจ็คท์ผลิตรองเท้า ร่วมกับทั้ง ไมเคิล จอร์แดน และ เลบรอน เจมส์, ขณะที่อาดิดาส เน้นไปทางผู้เล่นสายฟุตบอล อย่าง ปอล ป็อกบา, เจสซี ลินการ์ด และ เดเล อัลลี นอกจากนี้ทั้งสองแบรนด์ ยังได้มีการจับมือ กับศิลปินผิวดำ เพื่อมาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ การออกมาแสดงจุดยืน ถึงการต่อต้านพฤติกรรมเหยียดผิว ของทั้งไนกี้ และอาดิดาส คือการเปิดโอกาส ให้นักกีฬาหรือศิลปินผิวดำ รวมถึงผิวสีอื่นๆ เข้ามาร่วมงานกับแบรนด์มากขึ้นในอนาคต การแสดงจุดยืนร่วมกันของทุกฝ่ายในครั้งนี้ นักกีฬา, ไนกี้, อาดิดาส คือการทำลายกำแพง เพื่อจะบอกว่า ไม่มีสิ่งใดสำคัญ เท่ากับความเป็นมนุษย์ เรื่องผลประโยชน์ ไม่สำคัญเท่าสิทธิมนุษยชน และโลกกีฬาต้องร่วมใจกันเป็นหนึ่ง เพื่อฝ่าฟันวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น ต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรทำในฐานะมนุษย์ เราอาจจะพยายาม หาเหตุผลมากมายว่าเหตุใด สองแบรนด์กีฬาดังระดับโลก จึงต้องมาจับมือเฉพาะกิจ เพื่อเคลื่อนไหวด้านสังคม เราอาจจะคำนึงถึง เรื่องภาพลักษณ์, เรื่องการตลาด, เรื่องผลประโยชน์ระยะยาว, ความสัมพันธ์ของกับนักกีฬาและกลุ่มคนดัง แต่แท้จริงแล้ว การจับมือของ ไนกี้ และ อาดิดาส อาจไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า การร่วมมือกันในฐานะมนุษย์ ที่เห็นว่าอะไรถูก อะไรผิด เห็นคุณค่าความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ว่ามีความสำคัญมากแค่ไหน อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น ในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เวลาที่จะคำนึงเรื่องของผลประโยชน์ สำหรับกลุ่มธุรกิจในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีชายผิวดำคนหนึ่ง เสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับความชอบธรรม จากสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้คนออกมาเรียกร้อง ความยุติธรรมให้กับ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำผู้เสียชีวิต เพียงเพราะเขาไม่ได้ผิวขาว จึงไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง จากตำรวจที่จับกุมเขา สุดท้ายมนุษย์ทุกคน ควรตระหนักว่า เราทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน เรามีแขน, ขา, สมอง, ตา, หู, จมูก, ปาก, เหมือนกัน แม้รูปลักษณ์จะต่างกันไป บางคนผิวขาว บางคนผิวดำ บางคนผิวเหลือง แต่สุดท้ายแล้ว เราทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน มีร่างกายเหมือนกัน แล้วเหตุใดมนุษย์ถึงไม่ควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน? หากเรามองวงการแบรนด์กีฬา เป็นโลกใบหนึ่ง ไนกี้ และ อาดิดาส คือคนที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่มีอะไรเหมือนกัน ทั้งแนวทางการดำเนินธุรกิจ, กลุ่มตลาดของแบรนด์ เป็นคู่ปรับกันเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย ทั้ง ไนกี้ และ อาดิดาส คือแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเหมือนกัน ต่อให้แตกต่าง แต่ท้ายที่สุดพวกเขาคือคนเหมือนกัน ในโลกวงการแบรนด์กีฬา ในช่วงเวลาที่ทุกคนตามหาสิทธิที่เท่าเทียมกัน ระหว่างมนุษยชาติ ... หาก ไนกี้ และ อาดิดาส จะมาแยกทางกัน ไม่ร่วมมือ เป็นกระบอกเสียง ต่อสู้กับการเหยียดผิว พวกเขาคงไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วไปได้ การร่วมมือกัน ระหว่างทั้งสองแบรนด์ คือการแสดงจุดยืนว่า ต่อให้เป็นคู่แข่งกัน แต่ไม่มีสิ่งใดจะมาบอกว่า ไนกี้ และ อาดิดาส ไม่เหมือนกัน ท้ายที่สุดเราคือแบรนด์กีฬาเหมือนกัน และเราจับมือกัน เพื่อแสดงว่า โลกใบนี้ต้องเป็นหนึ่งเดียว ดังที่ ไนกี้ทิ้งท้ายไว้ในโพสต์วีดีโอต้านการเหยียดผิวของพวกเขาว่า "อย่าคิดว่าคุณไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง" และ อาดิดาส รีทวีตต่อว่า "นี่คือวิธีที่เราร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน นี่คือวิธีที่เราเปลี่ยนแปลงโลกไปด้วยกัน" ไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน ทำอาชีพอะไร รักใครหรือเกลียดใคร เป็นคู่แข่งกับใคร แต่นี่คือช่วงเวลา ที่โลกทั้งโลกต้องร่วมมือกัน หากคุณมีความฝัน อยากเห็นโลกใบนี้เท่าเทียมกัน ในประเด็นของเชื้อชาติ และสีผิว "จนกว่าเราทุกคนจะชนะ" ดังที่ทั้งสองแบรนด์ได้ว่าไว้ เชื่อว่าในอนาคต เราคงได้เห็น ไนกี้ และ อาดิดาส ร่วมมือกันเคลื่อนไหวทางสังคมอีกแน่นอน
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง แหล่งอ้างอิง |