จะ Online ตลอดเวลา หรือ Digital Detox ไปเลย? การศึกษาใหม่พบ ตัดการเชื่อมต่อออนไลน์ ลดวิตกกังวลได้ แต่ก็ทำให้เหงา

จะ Online ตลอดเวลา หรือ Digital Detox ไปเลย? การศึกษาใหม่พบ ตัดการเชื่อมต่อออนไลน์ ลดวิตกกังวลได้ แต่ก็ทำให้เหงา

ในช่วงปีที่ผ่านมา กรณีการสืบสวนของอังกฤษเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของ ‘มอลลี รัสเซลล์’ วัย 14 ปี พบว่า ภาพหลายพันภาพที่เธอดูบน Instagram และ Pinterest มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเธอในทางหนึ่ง 

ขณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกา Meta ก็ถูกฟ้องโดย 33 รัฐในข้อหากระตุ้นให้เกิดวิกฤตสุขภาพจิตของเยาวชน และตั้งใจออกแบบแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram เพื่อให้เด็กๆ เสพติด

แต่อย่างที่รู้กันดีว่า การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลค่อนข้างบังคับให้เราออนไลน์อยู่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งแทบจะตลอดเวลา เหตุผลหนึ่งเพราะกลัวตกกระแสที่อาจเกิดขึ้น (fear of missing out หรือ FOMO) พูดง่ายๆ ว่า กลัวการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงชีวิตประจำวันที่ไม่น่าอภิรมย์ ยิ่งทำให้การดูสิ่งสวยงาม หรูหราและความบันเทิงในโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจ

ด้วยเหตุนี้จึงส่งต่อผลคุณภาพของสมาธิที่สั้นลง สร้างความวิตกกังวลที่ซ่อนเร้น ลามไปถึงอาการหดหู่เมื่อได้รับข่าวสารมากเกินไป ขณะเดียวกันร่างกายก็ทำงานหนักขึ้น พักผ่อนน้อย จิตใจก็เริ่มไม่มั่นคง กระทั่งเกิดปัญหาสภาวะทางใจ 

หลายคนจึงใช้วิธีดิจิทัลดีท็อกซ์ (Digital Detox) คือลดการใช้เวลาในโลกออนไลน์สักพัก บางคนถึงขั้นปิดทุกอุปกรณ์สื่อสาร ตัดทุกวงจรการเข้าถึงใดๆ เพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างสงบในระยะหนึ่ง

แต่การศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยเดอรัม (Durham University) ในอังกฤษ พบว่า การตัดการเชื่อมต่อกับสื่อต่างๆ โดยสิ้นเชิง อาจมีทั้งผลดีและผลเสีย โดยพวกเขาพยายามพิสูจน์ว่า หากทำดิจิทัลดีท็อกซ์แบบสมบูรณ์นั้นสามารถทำให้เกิดอาการ ‘ถอนยา หรือ ลงแดง’ ได้หรือไม่ 

นักวิจัยจึงขอให้นักศึกษา 51 คนหลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram และ TikTok เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และ 1 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมคือกลุ่มที่ถูกระบุว่ามีพฤติกรรมติดโซเชียลมีเดีย จากนั้นอารมณ์ของพวกเขาถูกติดตามเป็นเวลา 15 วัน ผ่านแบบสำรวจที่บันทึกด้วยตนเอง ผลปรากฏว่าระหว่างสัปดาห์ 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วม กลับมาใช้โซเชียลมีเดียอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ระยะเวลาใช้งานต่ำกว่า 30 นาที 

ข่าวดีคือ ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกถึงอารมณ์เชิงลบน้อยลง เช่นลดอาการข่มขู่และการคุกคาม และหลายคนรายงานว่าความกลัวตกกระแสก็น้อยลงด้วยเช่นกัน 

อีกทั้งการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE พบว่า ไม่มีหลักฐานว่าดิจิทัลดีท็อกซ์ทำให้เกิดอาการลงแดง ผู้เขียนงานวิจัยจึงย้ำว่าการใช้คำว่า ‘การเสพติด’ กับโซเชียลมีเดียอาจไม่เหมาะสมเท่ากับการใช้กับยาเสพติดหรือแอลกอฮอลล์

ทว่า อีกด้านหนึ่งของดิจิทัลดีท็อกซ์ คือการปฏิสัมพันธ์เชิงบวกของพวกเขาก็ลดลงเช่นกัน ผู้เข้าร่วมประสบกับความเบื่อหน่ายและความเหงามากขึ้น เนื่องจากขาดการเชื่อมต่อและได้รับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การกดไลก์และคอมเมนต์ จากกลุ่มผู้ติดตามที่ติดต่อกันในโซเชียลมีเดีย อาจจะเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อนที่อยู่อีกเมือง อีกประเทศ หรืออีกซีกโลกหนึ่งที่นานๆ ทีพวกเขาจะได้พบกัน 

อย่างไรก็ตาม แซลลี แอนดรูส์ นักจิตวิทยาจากNottingham Trent University ได้กล่าวกับเว็บไซต์ข่าว Insider ว่า “หากรู้สึกว่าใช้โทรศัพท์มากเกินไป จนรบกวนคุณภาพชีวิตของตัวเองก็ควรใช้อย่างมีสติมากขึ้น และเก็บให้พ้นมือเมื่อไม่ได้ใช้งาน” 

วิถีชีวิตคนเราย่อมแตกต่างกันไปตามบริบทหน้าที่การงานของแต่ละคน ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ชีวิตออนไลน์อยู่ตลอดเวลา หรือทำดิจิทัลดีท็อกซ์ สุดท้ายแล้ว ความพอดีและการรู้ตัวว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร อาจเป็นคำตอบและเข็มทิศให้เรารู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องทำอย่างไรกับชีวิต 


อ้างอิง


ที่มา : https://www.brandthink.me/content/digital-detox


Visitors: 1,228,962