ผลวิจัยล่าสุดเผย ช่วงแรกที่หัวใจหยุดเต้น มนุษย์ยังรับรู้สิ่งรอบตัวได้ ตั้งแต่สัมผัสของ CPR ไปจนถึงเสียงเรียกให้กลับเข้าร่าง
ผลวิจัยล่าสุดเผย ช่วงแรกที่หัวใจหยุดเต้น มนุษย์ยังรับรู้สิ่งรอบตัวได้ ตั้งแต่สัมผัสของ CPR ไปจนถึงเสียงเรียกให้กลับเข้าร่าง
.
สำหรับคอวิชาการสายลึก ถ้าพูดถึงงานวิจัยที่เล่าเรื่องประสบการณ์เปลี่ยนผ่านระหว่างการมีชีวิตและความตาย เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ ดร.แซม พาร์เนีย (Dr.Sam Parnia) เป็นแน่
.
เพราะตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 90 ที่เจ้าตัวเห็นผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นตรงหน้า ความสงสัยเกิดขึ้นมาในใจของคุณหมอแซมตลอดว่ากับคนที่กำลังจะตาย พวกเขาสามารถรับรู้การช่วยเหลือของแพทย์ได้หรือไม่ และเมื่อไหร่กันที่ชีวิตจะจบลงจริงๆ แบบไม่รู้สึกอะไรเลย
.
จากคำถามเหล่านี้เอง ผลักดันให้หมอแซมทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่เรียนจบ เขามีงานตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก รวมถึงเป็นผู้เขียนหนังสือ ‘What Happens When We Die?: A Groundbreaking Study into the Nature of Life and Death’ อันโด่งดัง สิริรวมเวลากว่า 25 ปีแล้วที่หมอแซมทำเรื่องนี้
.
และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้เอง เขาก็ได้นำเสนองานวิจัยล่าสุดที่ว่าด้วยการรับรู้ของผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างความเป็นและความตายอีกครั้ง โดยคราวนี้เขามุ่งเน้นไปที่คนที่เคยมีประวัติได้รับการ CPR เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นเป็นหลัก
.
สำหรับรายละเอียดการทดลอง หมอแซมได้ทำการวิจัยผ่านการสัมภาษณ์และทำแบบทดสอบชายหญิง 567 คน ที่ได้รับการ CPR ในโรงพยาบาล 25 แห่งทั่วสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยใช้วิธีประสานกับโรงพยาบาลแต่ละแห่งให้ติดตั้งเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแบบพกพา (EEG) เครื่องสเปกโทรสโกปีอินฟราเรดระยะใกล้ (NIRS) และหูฟังบลูทูธที่เล่นเสียงว่า ‘แอปเปิล’ ‘ลูกแพร์’ และ ‘กล้วย’ เข้ากับผู้ป่วย เพื่อวัดการทำงานของสมอง ความอิ่มตัวของออกซิเจนในสมอง และการรับรู้ตามลำดับ
.
“เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ผู้คนนับล้านบอกเล่าว่า พวกเขามีสติสัมปชัญญะในช่วงเวลาแห่งความตาย แม้จากมุมมองของแพทย์พวกเขาจะไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตแล้วก็ตาม” หมอแซมกล่าวถึงงานวิจัยของเขา ซึ่งข้อสังเกตนี้ก็ตรงกับผลการทดลองที่เจ้าตัวค้นพบ
.
โดยมีถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เข้าสัมภาษณ์ที่บอกเล่าว่า ‘จำ’ ช่วงเวลาที่หัวใจหยุดเต้นได้ และมีถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถบรรยายได้อย่างละเอียดว่าสัมผัสของ CPR บนร่างกายเป็นแบบไหน แถมยัง ‘เห็น’ ภาพเจ้าหน้าที่ที่ทำการช่วยชีวิตตัวเองอีกต่างหาก แต่ถึงกระนั้นก็มีเพียงคนเดียวที่จำได้ว่าหูฟังบลูทูธพูดคำว่า ‘แอปเปิล’ ‘ลูกแพร์’ และ ‘กล้วย’ ระหว่างที่หัวใจหยุดเต้น
.
และถ้าดูผ่านการทำงานของสมอง หมอแซมยังได้รายงานเพิ่มเติมพร้อมหลักฐานว่า สมองของมนุษย์ยังคงทำงานต่อไปอีกสักระยะ หลังหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว โดยบางคนยาวนานถึง 1 ชั่วโมง และนี่ถือเป็นครั้งแรกเลยที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมีหลักฐานยืนยันชัดเจน
.
ซึ่งนอกจากคำบอกเล่าที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มีผู้ให้สัมภาษณ์บางส่วนที่เล่าถึงเรื่องเหนือธรรมชาติไว้อยู่เหมือนกัน เช่น การได้ยินเสียงเพลงเมื่อครั้งเยาว์วัย การกลับไปอยู่ที่บ้านที่ตัวเองผูกพัน ไปจนถึงการได้ยินเสียงเรียกจากคุณย่าผู้ล่วงลับให้กลับเข้าร่าง เป็นต้น
.
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่พองานวิจัยนี้ของหมอแซมตีพิมพ์ออกมาจะได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้าง และเป็นหัวข้อถกเถียงเหมือนเช่นทุกครั้ง เพราะผลงานวิจัยที่เขานำเสนอ สามารถเป็นชุดความรู้ที่นำมาประยุกต์และทำความเข้าใจในสภาวะระหว่างความเป็นและความตายของมนุษย์ได้อย่างมีประโยชน์
.
แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่างานวิจัยนี้จะมีแต่เรื่องราวน่าชื่นชมเพียงอย่างเดียว เพราะในอีกมุมก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมาแย้งและตั้งคำถามถึงหลักจริยธรรม ในการทำการทดลองกับผู้ป่วยของหมอแซมเช่นเดียวกันว่าเหมาะสมหรือไม่ แม้เจ้าตัวจะชี้แจงว่าการติดตั้งเครื่องมือเหล่านั้นไม่รบกวนหมอที่ทำการช่วยชีวิตแต่อย่างใด แต่ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะนักจิตวิทยาก็ยังออกมาตั้งคำถาม รวมถึงแนะนำว่า งานวิจัยที่กระทบกับชีวิตและความรู้สึกขนาดนี้ หมอแซมควรมีมาตรการรองรับหรือการให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยาตามหลังด้วย
.
อ้างอิง: What do people experience at the border between life and death?. https://bit.ly/3XqdbME
Lucid dying: Patients recall death experiences during CPR. https://bit.ly/3V2JaAR
.
ที่มา : https://www.facebook.com/brandthink.me
|