เปรียบเทียบคุณสมบัติสำคัญของยาเม็ด จาก 2 ยักษ์ใหญ่ Pfizer (ไฟเซอร์) และ Merck (เมอร์ค)

เปรียบเทียบคุณสมบัติสำคัญของ "ยาเม็ด" จาก 2 ยักษ์ใหญ่ "Pfizer" (ไฟเซอร์) และ "Merck" (เมอร์ค)

 

ซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ในการต่อสู้กับโควิด-19 นอกเหนือจากวัคซีน

อุตสาหกรรมยาโลกยังคงแข่งขันกันต่อเนื่อง ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันศุกร์ (5 พ.ย.) บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ชื่อ “แพ็กซ์โลวิด” (PAXLOVID) พร้อมอ้างข้อมูลผลทดสอบระยะที่ 3 ว่า มีประสิทธิภาพเกือบ 90%

 

นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไฟเซอร์ กล่าวว่า ข่าวดีวันนี้ถือเป็น “ตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริง” ในความพยายามยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของไฟเซอร์จึงเป็นเหมือนการส่งสัญญาณท้าทายยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” (MOLNUPIRAVIR) ที่ร่วมกันพัฒนาโดยบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเธราพิวติกส์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยโควิดในสหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานนี้

ทั้งนี้ ผลการทดสอบระยะที่ 3 ระบุว่า ยาเม็ดของไฟเซอร์ช่วยลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 89%

ส่วนผลการทดสอบระยะที่ 3 ของยาเม็ดของเมอร์ค ชี้ว่า ลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 50%

ข้อมูลจากทั้ง 2 บริษัท ระบุว่า ยาเม็ดต้านโควิด-19 แพ็กซ์โลวิด และ โมลนูพิราเวียร์ ควรให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

ส่วนปริมาณการผลิต ไฟเซอร์เผยว่า จะผลิตยาแพ็กซ์โลวิด 180,000 แผงภายในสิ้นปี 2564 และอีกอย่างน้อย 50 ล้านแผงภายในสิ้นปี 2565

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของแพ็กซ์โลวิด คือ Protease inhibitor ส่วนของ โมลนูพิราเวียร์ คือ Viral mutagenic

ส่วนเรื่องการรับรองจากหน่วยงานรัฐ ดูเหมือนว่า เมอร์คยังคงได้เปรียบไฟเซอร์ เพราะผ่านการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรแล้ว และได้ยื่นขออนุมัติการใช้ยาในสหรัฐแล้ว อยู่ระหว่างรอผล

ขณะที่ไฟเซอร์เตรียมเพิ่มข้อมูลผลทดสอบทางคลินิกให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) หลังจากบริษัทยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อ FDA เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถนำยา 2 ตัวนี้มาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง

“เราไม่สามารถเปรียบเทียบยาทั้ง 2 ตัวนี้ได้ จนกว่าจะรู้ข้อมูลความเสี่ยงต่อผู้ป่วยชัดเจนกว่านี้” แซม ฟาเซลลี นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.blockdit.com/bangkokbiznews

Visitors: 1,403,279