ถอดบทเรียนวิธีการรับมือไวรัสของเอเชีย

BBC เขาสรุปรวบรวมเอากรณีศึกษาการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศแถบเอเชียเอาไว้ด้วยกัน 6 ข้อ เพื่อใช้เป็นบทเรียน และตัวแบบแนวทางสำหรับประเทศทางฝั่งยุโรป เผื่อประเทศอื่นๆจะได้นำไปประยุกต์ใช้กันได้ เห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาย่อยให้อ่านกันครับ

บทเรียนที่ 1 เลย คือ การออกมาตรการรองรับปัญหาด้วยความรวดเร็ว

คือในเอเชียเนี่ย หลายประเทศสามารถจัดการกับปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆด้วยมาตรการแยกตัวคนป่วย ระดมปูพรมตรวจโรคเป็นวงกว้าง แล้วก็ออกมาตรการ Social distancing ให้ไวที่สุดตั้งแต่มีข่าวไวรัสระบาดช่วงมกราคม 2020 กันเลย อย่างไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์นี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในประเด็นนี้

** คือ ไหวตัวได้ไว ปรับมาตรการได้ทันการ ก่อนที่สถานการณ์จะแย่เกินไป

ในขณะที่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ยุโรปอะไรพวกนี้นั้นไหวตัวค่อนข้างช้า เลยทำให้ออกมาตรการตอบรับต่อภัยโรคระบาดได้ช้าจนตอนนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 1,000 หลัก 10,000 คนกันแล้ว ทั้งๆที่ประเทศเหล่านั้นมีระยะเวลาเตรียมตัวก่อนที่ไวรัสจะแพร่ออกไปจากจีนถึง 2 เดือน

แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรอย่างจริงจังเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหา ฝรั่งเดินเข้าสนามบินสุวรรณภูมิไม่เคยมีใครใส่ผ้าปิดปากหรือหน้ากากอนามัยกันเลย ขนาดเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ที่สถานการณ์ไวรัสเริ่มเป็นที่ชัดเจนหลายแห่งทั่วโลกแล้ว ฝรั่งที่บินมาเที่ยวไทยตามสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต 9 ใน 10 ยังไม่มีใครใส่หน้ากากเลย

บทเรียนที่ 2 คือ ระบบสาธารณสุขต้องครอบคลุม และเข้าถึงได้ง่าย

กรณีศึกษาที่ดีข้อหนึ่งจากเกาหลีใต้ก็คือ เกาหลีใต้นั้นระดมปูพรมตรวจกันวันละไม่ต่ำกว่า 10,000 คน จนตอนนี้สถิติการตรวจทะลุไปแล้วเกือบ 300,000 คน ที่สำคัญคือ กระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้นั้นจัดให้ประชาชนมาตรวจโรคได้ฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย

สาเหตุหลักๆก็คือ โรงพยาบาลและเทคโนโลยีด้านการสาธารณสุขที่เกาหลีใต้นั้นค่อนข้างทันสมัย และจากประสบการณ์การแพร่ระบาดของ MERS ที่ระบาดในเกาหลีใต้เมื่อปี 2015 จนมีคนตายไปเกือบ 40 คนนั้นก็เป็นกรณีย้ำเตือนที่ดีที่ช่วยให้ภาครัฐของเกาหลีใต้มีความตระหนักต่อภัยด้านโรคระบาดครั้งนี้มากขึ้น

เทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ก่อนที่ทาง Donald Trump และสภา Congress จะออกมาตรการพิเศษเกี่ยวกับสาธารณสุขเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น การไปแจ้งความจำนงขอตรวจหาไวรัส COVID-19 เป็นสิ่งที่ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะชุดตรวจมีราคาสูง แต่อุปกรณ์ที่ทางโรงพยาบาลสามารถใช้ได้นั้นมีจำกัด

ส่วนในอังกฤษและประเทศอื่นๆในยุโรปนั้น ก็มีเรื่องของข้อจำกัดทางมาตรการสาธารณสุข คือ ทางโรงพยาบาลจะอนุมัติการตรวจหาไวรัสให้เป็นเฉพาะรายกรณีไป ไม่อนุญาตให้ทุกคนที่ไม่มีอาการหรือไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้ามาขอตรวจ ทำให้สถานการณ์ไวรัสในอังกฤษนั้นค่อนข้างอ่อนไหวและแพร่กระจายได้เร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

บทเรียนที่ 3 คือ การติดตามและจับแยก

อย่าเน้นคัดกรอง หรือตรวจโรคเฉพาะกับคนที่มีอาการ แต่ให้ติดตามประวัติการเดินทาง ประวัติการติดต่อของผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงด้วย ว่าไปไหนมาบ้าง ติดต่อพบเจอกับใครมาบ้าง แล้วนำมากักตัวให้ได้ ในสิงคโปร์และในไต้หวันนั้นจะมีทีมงานจากภาครัฐคอยติดตามตลอด

อย่างสิงคโปร์นั้นจะมีสายสืบ ทำหน้าที่คอยโทรศัพท์ตามตัว และสอดส่องคนกว่า 6,000 คนอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆไปกับการมอนิเตอร์ตรวจสอบผ่านกล้อง CCTV เพื่อไม่ให้มีการหลบหนีการกักตัว หากครบกำหนดแล้วตรวจไม่พบเชื้อไวรัส ก็จะปลดออกจากมาตรการเฝ้าระวัง

ที่สิงคโปร์มาตรการเขาเข้มข้น รัดกุมมาก จะมีเจ้าหน้าที่คอยสุ่มโทรศัพท์เข้าไปเช็คทุกวัน วันละหลายครั้ง ว่ายังกักตัวเองอยู่ในบ้านหรือเปล่า และเขาไม่ได้แค่โทรศัพท์ไปถามนะครับ เขาสั่งไว้เลยว่าหากโทรศัพท์เข้าไปแล้ว คนที่กักตัวอยู่ต้องถ่ายรูปตัวเองส่งไปให้เจ้าหน้าที่ดูด้วยว่าอยู่ในบ้านจริงหรือเปล่า

** และต้องแนบตำแหน่งที่อยู่ทาง GPS Location ส่งกลับไปให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย เพื่อเป็นการยืนยันตน ใครฝ่าฝืนจะตามไปจับเข้าคุกทันที

ส่วนที่ฮ่องกงนั้นมีมาตรการจากทางฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองบังคับให้ผู้ที่จะเข้าฮ่องกงนั้นต้องสวมกำไลอิเล็กทรอนิคส์สำหรับการติดตามตัวเอาไว้อยู่ตลอดเวลาคล้ายๆกับแบบนักโทษของเรือนจำ (สำหรับไต้หวันนั้นใช้มาตรการค่าปรับ ใครฝ่าฝืนมาตรการกักบริเวณ ก็จะปรับเป็นเงินประมาณ 200,000 บาท ไปจนถึง 1,000,000 บาท แล้วแต่กรณี)

บทเรียนที่ 4 คือ เว้นระยะห่างระหว่างชุมชนให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด

วิธีนี้ยิ่งทำช้า ยิ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง แล้วจะทำให้สถานการณ์บีบให้ต้องใช้มาตรการที่แข็งข้อมากขึ้นในภายหลังด้วย อย่างกรณีของจีนนั้นได้ลงมือออกมาตรการรับมือไวรัสช้าไป คนจีนจำนวนกว่า 5,000,000 คนได้บินออกจากอู่ฮั่นไปตั้งแต่ก่อนประกาศปิดเมือง

ทำให้ทางรัฐบาลจีนต้องขยับไปใช้มาตรการยาแรง คือ การสั่งปิดทุกอย่าง ปิดการเดินทาง เลื่อนและยกเลิกเที่ยวบินขาออกจากจีนจำนวนมาก (ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ลากยาวมาจนถึงมีนาคม) มีการนำกำลังทหารออกมาเป็นแนวหน้าคอยดูแลช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในงานสาธารณสุข

ใครฝ่าฝืนรัฐบาลจีนพร้อมจะจับเข้าคุกทันที มีการออกตามล่าตัวคนจีนที่ทำตัวเป็นอันธพาลคอยไล่แพร่เชื้อตามบริเวณต่างๆของเมืองอย่างเด็ดขาด มีการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน หากอยากกินข้าวให้สั่งบริการ Delivery ส่งไปถึงบ้านแทน โดยไม่ต้องออกมาเดินเพ่นพ่าน

กว่าอิตาลีกับสเปนเพิ่งจะมาตัดสินใจปิดเมือง ปิดประเทศกัน สถานการณ์ก็สายไปซะแล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆทุกวัน ตัวเลขผู้ป่วยทวีคูณขึ้นตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทุกอย่างนั้นเป็นผลมาจากความไวของการออกมาตรการ Social Distancing ยิ่งบังคับให้คนอยู่แต่ในบ้านได้ไว ก็ยิ่งมีโอกาสควบคุมสถานการณ์ได้ไว

ซึ่งแม้รัฐบาลหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสาธารณสุขจะออกมาเตือนก่อนที่จะมีมาตรการจริงจังเกิดขึ้น คนในทวีปยุโรปก็ยังดื้อรั้น ออกมาเดินเล่นในที่ชุมชนกันโดยไม่ใส่หน้ากากกันอยู่ดี (อย่างล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในปารีสยังดื้อไม่ยอมกักตัวเองอยู่ในบ้าน แล้วออกไปชุมนุมกันในที่สวนสาธารณะ ออกไปปิกนิก ไปเดทท้าไวรัสกันอยู่เลย)

บทเรียนที่ 5 คือ ประชาชนต้องรู้ความเคลื่อนไหวและข่าวสารของสถานการณ์ตลอดเวลา

รัฐบาลมีหน้าที่ต้องแจ้งข่าว และอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไวรัสทุกอย่างให้แก่ประชาชนตลอดเวลา ไม่ว่าจะโดยข่าวสารช่องทางหลักเช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือประกาศตามชุมชน และการส่ง SMS ให้ตามครัวเรือน หรือ ช่องทางออนไลน์ เช่น ข้อความบน Facebook และ Twitter

** ยิ่งประชาชนรับรู้ข่าวสาร(ที่ถูกต้อง)ได้มากเท่าไรก็ยิ่งลดอาการแตกตื่นได้มากเท่านั้น

จีนนั้นพลาดในช่วงต้นเดือนมกราคม ที่มีการไล่จับคนที่เอาข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสมาเผยแพร่ (กรณีจับหมอ 8 คนของอู่ฮั่น) แม้ว่าในภายหลังจะได้รับการสรรเสริญชื่นชมว่าสามารถควบคุมสถานการณ์และชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างดีหลังการประกาศปิดเมือง และสร้างโรงพยาบาลสนามก็ตาม

** แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่าปัญหาระดับรากฐานนั้นเป็นเพราะจีนคลอดมาตรการรับมือไวรัสช้าไป และปล่อยให้สถานการณ์มันกระจายออกนอกจีนไปจนระบาดไปทั่วเอเชียและทั่วโลกเช่นนี้

ในสหรัฐอเมริกาก็มีข้อผิดพลาดในทำนองเดียวกัน รัฐบาลไม่สามารถแจ้งข่าว หรืออัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนัก เพราะโรงพยาบาลรัฐบาล กับสถานพยาบาลของเอกชนนั้นไม่ได้กระจายข้อมูล และส่งต่อข้อมูลระหว่างกัน

** ทำให้ศูนย์ข้อมูลของ CDC ที่เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลกลางไม่มีข้อมูลดิบอยู่ในมือเพียงพอที่จะนำไปประมวลต่อเป็นมาตรรองรับได้

กรณีตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารก็คือ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ คือมีการอัพเดทข้อมูลลงในอินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ทั้งข้อมูลการระบาดในบริเวณที่สุ่มเสี่ยง แผนที่สถานที่สุ่มเสี่ยง หรือสถานที่ที่เคยมีผู้ติดเชื้อเดินทางไป มีการทำแผนที่ร้านขายยาที่มีหน้ากากอนามัยขายเป็นต้น

บทเรียนที่ 6 คือ ‘จิตสำนึกและทัศนคติ’ สำคัญที่สุด

ที่ฮ่องกงนั้น หลายๆคนคงทราบดีว่าเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาเป็นปีของการก่อม็อบชุมนุมประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นในฮ่องกงอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือน แต่เมื่อถึงสถานการณ์ของไวรัสระบาด ชาวฮ่องกงหลายครัวเรือนนั้นพร้อมใจกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ยอมยกเลิกทริป ยกเลิกแผนการท่องเที่ยว

หลายบ้านยอมยกเลิกไม่จัดงานตรุษจีนกัน เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนกันเลยทีเดียว เจ้าหน้าที่จากองค์กรสาธารณสุขสากลคนหนึ่งออกมาเล่าถึงพฤติกรรมและทัศนคติของคนฮ่องกงว่า หลังไวรัสระบาด เวลาจะขึ้นลิฟต์ หรือ เดินทางไปไหนมาไหน

คนฮ่องกงจะระวังตัวไม่เข้าใกล้คนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นอย่างมาก และจะสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในที่สาธารณะ ในขณะที่ในยุโรป แทบไม่มีใครยอมสวมใส่หน้ากากอนามัย แถมยังมีความเชื่อแบบผิดๆอีกว่า มีแต่คนที่ป่วยเท่านั้นที่ควรใส่หน้ากาก

ถ้าเทียบกับในยุโรป ขนาดรัฐบาลประกาศเตือนว่าอย่าออกมาในที่ชุมชน หรือรวมตัวกันเกิน 50 คน พวกฝรั่งยังออกมาเดินเล่นในสวนสาธารณะ รวมตัวกันปาร์ตี้ กินเหล้า เข้าผับกันอย่างสบายใจอยู่เลยเมื่อประมาณช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีความกลัว หรือกังวลต่อไวรัสเลย

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

 

ที่มา : BlockDit นักยุทธศาสตร์

 

 
Visitors: 1,427,739