ติดโควิด ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน! ประชาชนต้องดูแลตัวเอง

"ติดโควิด" ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน! ประชาชนต้องดูแลตัวเอง

สัปดาห์นี้เห็นได้ชัดว่าหลายประเทศเปิดพรมแดนมากขึ้น รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่ปิดสนิทมาสองปีนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด มาเลเซีย อินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงก็ประกาศเปิดประเทศอีกครั้ง นัยหนึ่งคือทำแบบเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน 

สะท้อนว่ามุมมองของโลกต่อโควิดเริ่มเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังคือบางประเทศส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไม่ไหวแล้ว ขืนปิดต่อไปจะยิ่งยากลำบากเพราะไวรัสร้ายไม่ได้กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วสะเทือนไปทุกภาคส่วน อีกทั้งสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อกันง่าย

ไม่ว่าจะปิดพรมแดนหรือไม่ปิดก็ระบาดได้ ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วอย่างนี้จะปิดประเทศไปทำไม เปิดรับนักท่องเที่ยวไม่ดีกว่าหรือ อย่างน้อยๆ ก็มีรายได้เข้ามาช่วยต่อลมหายใจคนท้องถิ่น 

ในระดับโลกต้องจับตาองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการให้การระบาดของโควิดพ้นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลกให้ได้ภายในปีนี้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ WHO ย้ำมาตลอดว่าประเทศร่ำรวย ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำในแง่การตรวจ การรักษาและการฉีดวัคซีน

ประเด็นที่ต่อเนื่องถึงประเทศไทยคือวันนี้ (11 ก.พ.) จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เตรียมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการกำหนดให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า การประชุมจะหารือกันเรื่องการปรับรายงานตามนโยบายรัฐบาลที่จะเปลี่ยนให้เป็น “โรคประจำถิ่น” 

ได้ยินอย่างนี้อย่าเพิ่งดีใจเพราะมีเรื่องให้ต้องคิดต่อ หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั่นคือยังมีการระบาดได้เป็นครั้งคราว  แต่ “การดูแลรักษา” ยกเลิกการกำหนดผู้ติดโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิของแต่ละคน เริ่ม 1 มี.ค.2565 

ส่วน “การเข้ารับวัคซีน” ที่ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปจะประเมินได้ว่าการรับวัคซีนโควิด-19 จะเป็นอย่างไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการให้รับวัคซีนฟรีในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์เหมือนวัคซีนไข้หวัด สรุปง่ายๆ คือเมื่อผู้ติดโควิด-19 ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินอีกต่อไป

แม้รัฐบาลยืนยันว่า ประชาชนที่ติดเชื้อยังเข้ารับการรักษาได้ฟรีตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่การดูแลของรัฐย่อมลดลงจากภาวะฉุกเฉิน เข้าโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายเงินเอง และการฉีดวัคซีนอาจไม่ใช่เรื่องฟรีเหมือนที่ระดมฉีดกันในปัจจุบัน

จะว่าไปแล้วในสภาวะเช่นนี้ อะไรที่รัฐบาลช่วยดูแลประชาชนได้ ช่วยดูแลไปก่อนจะดีกว่าไหม ในเมื่อดับเบิลยูเอชโอยังไม่ประกาศยุติภาวะฉุกเฉิน ในประเทศก็ควรดูให้มั่นใจเสียก่อนว่าถึงเวลาหรือยัง ภาวะการเป็นโรคประจำถิ่นของโควิดอย่างไรเสียก็ต้องเป็นแน่ๆ แต่ควรให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่การที่รัฐบาลเร่งรีบยุติเพื่อผลักภาระให้ประชาชนไปดูแลตัวเอง

ไหนๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเคยบ่นว่าห่วงใยสุขภาพจิตประชาชนในยุคเศรษฐกิจไม่ดี-โควิดระบาดแล้ว ก็ช่วยดูแลสุขภาพกายต่อไปอีกสักหน่อยก็แล้วกัน ประชาชนจะได้แฮปปี้ทั้งกายและใจ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/social/987716

 

Visitors: 1,217,000