รู้จัก 'mRNA' วัคซีนที่คนไทยเรียกหา

รู้จัก 'mRNA' วัคซีนที่คนไทยเรียกหา

รู้จัก 'mRNA' วัคซีนที่คนไทยเรียกหา ดันแฮชแท็ก #ต้องการmRNAvaccine
 

กระแสเรียกร้องวัคซีนชนิด "mRNA" มาแรง จนเกิดแฮชแท็ก #ต้องการmRNAvaccine ในโลกโซเชียล ขณะที่วานนี้ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ก็ได้แถลงถึงประสิทธิภาพวัคซีน หลายคนจึงอยากรู้จัก mRNA วัคซีน มากขึ้น

หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดหาวัคซีนโควิดชนิด "mRNA" เพิ่มเติม ทั้งยี่ห้อ "ไฟเซอร์" และ "โมเดอร์นา" แต่ขณะเดียวกันก็อนุมัติโครงการจัดซื้อวัคซีน "ซิโนแวค" เพิ่มด้วย ทำให้คนไทยกังขาและเกิดคำถามว่า ในเมื่อซิโนแวคใช้ไม่ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์ "เดลตา" ที่กำลังระบาดหนักตอนนี้ แล้วทำไมยังสั่งซื้อเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส?!

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดกระแสแฮชแท็ก #ต้องการmRNAvaccine มาแรงในโลกโซเชียล ที่ชวนคนไทยแต่งดำออกมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขก็มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับชนิดของวัคซีนต่างๆ และประสิทธิภาพการป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึง "mRNA วัคซีน" ด้วย จากเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้หลายคนอยากรู้จักวัคซีนชนิด mRNA กันมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลมาให้ทราบกันดังนี้

 

1. วัคซีนชนิด mRNA คืออะไร?

มีข้อมูลจาก ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายเอาไว้ในบทความวิชาการ (7 มิ.ย. 2564) ระบุว่า

mRNA (อ่านว่า เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ) ย่อมาจาก messenger Ribonucleic Acid เป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนขึ้นตามรหัสคำสั่งนั้นๆ เป็นกลไกปกติของร่างกาย

 

จากหลักการนี้ ทำให้ทางการแพทย์คิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ขึ้นมา โดยการเอาชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 (mRNA) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส (Spike protein) นำมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่งที่เรียกว่า S-spike mRNA

เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เอง ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen)ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

 

 

2. ประสิทธิภาพที่เหนือกว่า ของ mRNA Vaccine

โดยธรรมชาติแล้ว สารพันธุกรรม mRNA เหล่านี้จะถูกขจัดออกจากร่างกายภายในระยะเวลาไม่นาน จึงไม่สะสมหรือฝังตัวอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ในร่างกาย จากการศึกษาพบว่าวัคซีนชนิด mRNA มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำ และในภาพรวม ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง

mRNA วัคซีน ให้ผลในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สูงถึง 95% โดยวัคซีนชนิด mRNA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ในขณะที่วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายอย่าง "ซิโนแวค" ให้ผลการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 51%

ด้วยประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด mRNA ที่มีมากกว่าวัคซีนชนิดไวรัสเชื้อตายและวัคซีนชนิดไวรัสพาหะ จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาเพิ่มเติมมากขึ้น ผ่านการติดแฮชแท็ก #ต้องการmRNAvaccine ในโลกโซเชียล

 

 3. รู้ชัดๆ ประสิทธิภาพวัคซีนชนิดไหนดีที่สุด? 

กลับมาที่ประเด็นประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ ตอนนี้คนไทยหลายคนรู้แล้วว่าวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ และช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ได้มากกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย แต่ยังมีบางประเด็นที่ประชาชนอาจจะยังเข้าใจผิด 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. จึงออกมาแถลงข้อมูล (6 ก.ค. 64) ในประเด็นประสิทธิภาพวัคซีน ระบุว่า

จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดของโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่น (ดั้งเดิม) และสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) นั้น วัคซีนที่เมืองไทยมีอยู่สามารถช่วยป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ "เดลตา" (อินเดีย) ซึ่งตัวเชื้อกลายพันธุ์นี้ ดื้อวัคซีน ดังนั้นไม่ใช่วัคซีนไม่ดี แต่กลายเป็นว่าวัคซีนรุ่นเก่ามีประสิทธิภาพลดลง โดยเชื้อไวรัส "เดลตา" ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ดังนี้

  • "เดลตา" ทำให้ผู้ที่ฉีด "ไฟเซอร์" 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า
  • "เดลตา" ทำให้ผู้ที่ฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า
  • "เดลตา" ทำให้ผู้ที่ฉีด "ซิโนแวค" 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่า

ส่วนในด้านประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิต้านทานนั้น พบว่า

  • วัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิได้สูงสุด อยู่ที่ระดับพันถึงระดับหมื่น
  • วัคซีนชนิดเชื้อพาหะ (แอสตร้าเซนเนก้า/จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน) สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิได้หลักพันต้นๆ
  • วัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม) สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิได้หลักหลายร้อยปลายๆ 

สำหรับด้านสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตา" พบว่า

  • ไฟเซอร์ ป้องกันลดลงจาก 93% เหลือ 88% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 96%
  • แอสตร้าฯ ป้องกันลดลงจาก 66% เหลือ 60% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 92%
  • ซิโนแวค ยังมีข้อมูลน้อย ถ้าเทียบจากภูมิคุ้มกันคงป้องกันเดลต้าได้ไม่ดีแน่ แต่หากดูเฉพาะการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ป้องกันการตาย ได้ผลมากกว่า 90% จากข้อมูลของหลายประเทศและข้อมูลในไทย

เหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า เราต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ ที่จะมาป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ "เดลต้า" ให้ได้ ซึ่งตอนนี้ทุกยี่ห้อยังไม่มี และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เร็วสุดอาจได้วัคซีนรุ่นใหม่ปลายปีนี้ หรืออาจจะต้นปีหน้า 2565

162573876953

 

4. ระหว่างรอวัคซีน mRNA รุ่นใหม่ ต้องเสริม "บูสเตอร์โดส"

นพ.อุดม คชินทร บอกอีกว่าระหว่างที่รอวัคซีนรุ่นใหม่ ต้องหาวิธีการควบคุมการระบาดในตอนนี้ คือ ให้วัคซีน "บูสเตอร์โดส" เพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ให้ได้

ประชาชนต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนว่า ไม่มีทางป้องกันได้ 100% แต่ละตัวมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน แม้ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ยังมีประสิทธิภาพป้องกันป่วยรุนแรง จนต้องเข้ารพ. และป้องกันอัตราการตาย ได้สูงมากเกิน 90% คุ้มค่ามหาศาลสำหรับชีวิต และช่วยปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้เกินกำลัง

เอาเป็นว่าตอนนี้ใครยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ก็ให้ฉีดให้ครบก่อน ยังไม่ต้องกังวลเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 โดย นพ.อุดม คชินทร ย้ำว่าอย่าเพิ่งไปจองวัคซีนตัวอื่นเพื่อมาเป็นเข็ม 3 เพราะหากจองตอนนี้ ก็จะได้วัคซีน mRNA รุ่นเก่า แต่หากรออีก 6 เดือน จะได้ mRNA รุ่นใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง และปลอดภัยมากกว่า

5. ย้อนรอยต้นกำเนิด วัคซีนชนิด mRNA

นอกจากนี้ หลายคนอาจอยากรู้ว่าเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนชนิด mRNA นั้น มีต้นกำเนิดเป็นมาอย่างไร? คำตอบคือ มีต้นกำเนิดมาจากนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวฮังการี ที่ชื่อว่า ดร.เคทลิน คาริโก (Dr. Katalin Kariko) โดยเธอเชื่อว่า mRNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างยาและวัคซีนให้มนุษย์ได้ โดยมีการวิจัยและทดลองมานานกว่า 20 ปี

วิธีการทำงานของวัคซีนชนิด mRNA เป็นวิธีการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ ที่พัฒนาลึกลงไปถึงระดับโมเลกุล โดยการเข้ารหัสพันธุกรรม เพื่อสอนให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา เลียนแบบไวรัสด้วยการผลิตโปรตีนหนามที่เหมือนกับหนามจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19 ออกมา

ซึ่งกระบวนการนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ร่างกายมนุษย์ จากนั้นร่างกายก็จะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการสร้างแอนติบอดีต้านเชื้อโรค หลังจากฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว สารพันธุกรรม mRNA ในวัคซีนจะถูกขจัดออกจากร่างกายจนหมด ไม่เหลือตกค้าง จึงปลอดภัยสูง

ข้อดีอย่างหนึ่งของเทคโนโลยี mRNA คือ หากเกิดกรณีไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ จนทำให้แอนติบอดีในร่างกายเราไม่สามารถเข้าทำลายเชื้อนั้นได้ การผลิตวัคซีนตัวใหม่ที่ใช้สู้กับไวรัสกลายพันธุ์จะสามารถทำได้ง่าย โดยเข้าไปแก้ไขรหัสพันธุกรรมบน mRNA ที่จะใช้ผลิตวัคซีน ก็สามารถปรับเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนได้อย่างทันท่วงที

-------------------------------

อ้างอิง : 

กระทรวงสาธารณสุข

chulalongkornhospital

statnews

mRNA-how-do-they-work

sarakadeelite

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/947547?utm_source=grf-eng&utm_medium=partner&utm_campaign=giraff.io

 

Visitors: 1,403,289