งานวิจัยจากนอร์ธเวสเทิร์น เมดิซิน (Northwestern Medicine) สถาบันดูแลสุขภาพในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ พบการ "ดื่มกาแฟ" และการ "กินผัก" ปริมาณมาก อาจช่วยป้องกันการป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ได้
คณะนักวิจัยใช้ข้อมูลจาก ยูเค ไบโอแบงก์ (UK Biobank) ฐานข้อมูลชีวการแพทย์และทรัพยากรการวิจัยของสหราชอาณาจักร ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกบันทึกในปี 2006 - 2010 กับการป่วยโรคโควิด-19 ช่วงเดือนมีนาคม - ธันวาคม 2020 ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โดยให้ความสนใจกับองค์ประกอบในอาหาร รวมถึงการรับประทานกาแฟ ชา ผัก ผลไม้ ปลาที่มีไขมัน เนื้อสัตว์แปรรูป และเนื้อแดง
การวิจัย พบว่า ร้อยละ 17 ของผู้รับการตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 37,988 คน ซึ่งเข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ มีผลตรวจโรคเป็นบวก
คณะนักวิจัย พบว่า การดื่มกาแฟมากกว่า 1 แก้วต่อวัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ลดลงราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน ส่วนการบริโภคผักปรุงสุกหรือผักดิบอย่างน้อย 0.67 หน่วยบริโภคต่อวัน (ยกเว้นมันฝรั่ง) สัมพันธ์กับความเสี่ยงติดเชื้อลดลง ขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปเพียง 0.43 หน่วยบริโภคต่อวัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงติดเชื้อสูงขึ้น นอกจากนั้น การได้รับน้ำนมแม่ตั้งแต่เด็กลดความเสี่ยงติดเชื้อลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับน้ำนมแม่
อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบในอาหารและโรคโควิด-19
“กาแฟเป็นแหล่งคาเฟอีน แต่อาจมีสารประกอบอื่นอีกหลายสิบชนิดที่อาจเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ดังกล่าวที่เราพบ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อแปรรูปที่ไม่ใช่เนื้อแดงกับความเสี่ยงติดเชื้อที่สูงขึ้น บ่งชี้ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องเนื้อสัตว์” ผู้เขียนอาวุโส และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันจากสถาบันยาฟีนเบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น มาริลิน คอร์เนลีส กล่าว
การวิจัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยส่วนบุคคลที่ได้รับการประเมินหลังมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก
อนึ่ง นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซิน เป็นความร่วมมือระหว่าง นอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล เฮลธ์แคร์ (Northwestern Memorial HealthCare) และภาควิชาแพทยศาสตร์ฟีนเบิร์ก มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทำหน้าที่วิจัย ฝึกสอน และดูแลผู้ป่วย ขณะที่ งานวิจัยฉบับนี้ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันจันทร์ (19 ก.ค.) และวารสารนูเทรียนส์ (Nutrients)
ที่มา : https://www.komchadluek.net/news/foreign/475498