COP29 ประชุมไปก็เสียเวลา ? ผู้นำระดับโลกไม่มา ไร้ทางช่วย ‘โลกร้อน’

COP29 ประชุมไปก็เสียเวลา ? ผู้นำระดับโลกไม่มา ไร้ทางช่วย ‘โลกร้อน’

 

การประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางคำถามของหลายฝ่ายว่าการประชุมนี้จะช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงหรือ ?

ก่อนที่การประชุมจะเริ่ม “ปาปัวนิวกินี” ได้ออกตัวคว่ำบาตรการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติในครั้งนี้ เพื่อประท้วงต่อ “คำสัญญาที่ว่างเปล่าที่ไร้การดำเนินการใด ๆ” ของเหล่าประเทศที่ร่ำรวยกว่า

จัสติน คัตเชนโก รัฐมนตรีต่างประเทศของปาปัวนิวกินี เรียกการประชุม COP29 ว่าเป็น การประชุมที่ “เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์” และเขาก็เป็นหนึ่งในผู้นำที่ไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เช่นเดียวกับ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง, เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ต่างก็ไม่เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน

ส่วนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส จะไม่เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากความสัมพันธ์ของฝรั่งเศส และอาเซอร์ไบจานตึงเครียดมาตั้งแต่ปี 2023 หลังจากฝรั่งเศสประณามการโจมตีทางทหารของอาเซอร์ไบจานต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอาร์เมเนียในภูมิภาคคาราบัคที่แยกตัวออกไป เช่นเดียวกับ โอลาฟ โชลซ์ ก็กำลังเผชิญกับวิกฤติการเมืองในประเทศ จนไม่มาร่วมประชุม

ผู้นำคนอื่นๆ ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเช่นกัน กษัตริย์ชาลส์แห่งสหราชอาณาจักรไม่เข้าร่วมเนื่องจากกำลังฟื้นตัวจากโรคมะเร็ง ส่วนประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กำลังให้ความสำคัญกับสงครามในยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดี ลูอิซ อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ก็จะไม่เข้าร่วมการประชุมเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ โดยรวมแล้ว จำนวนผู้เข้าร่วมในปีนี้จะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้าร่วมในปีที่แล้ว

 

กว่าที่จะได้จัด COP29 การประชุมในครั้งนี้ต้องผ่านพ้นความยากลำบากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครน และตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ และไม่มีทีท่าสงบ สภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และประเทศเจ้าภาพซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออก “น้ำมัน” แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวการที่ทำให้โลกร้อน รวมถึงการชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่เชื่อในเรื่องโลกร้อน ที่จะก้าวมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ 

เมื่อปัจจัยเหล่านี้รวมกับการที่ผู้นำของมหาอำนาจหลายประเทศเข้าร่วมการประชุม ทำให้เกิดความกังวลว่าการประชุมในครั้งนี้อาจจะไม่ได้อะไร เพราะเมื่อผู้นำระดับสูงหลายคนไม่เข้าร่วม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งให้การประชุมสุดยอดครั้งนี้ดูไม่มั่นคง และทำให้เกิดคำถามว่าประเทศผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลกมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศหรือไม่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทำให้ประเทศกำลังพัฒนากล้าเรียกร้องเงินช่วยเหลือด้านสภาพอากาศมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ต้องแข่งกันเรียกร้องเงินทุน และความสนใจจากหน่วยงานหรือประเทศมหาอำนาจมากกว่าเดิม เพราะต้องแข่งกับความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจ สงครามในยูเครน และกาซา

การประชุมในครั้งนี้ ถูกเรียกว่าเป็น “Finance COP” โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนสภาพอากาศมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และครบระยะเวลาแต่ละประเทศจะต้องส่งแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือ NDC ฉบับใหม่

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ปาปัวนิวกินี ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่กำลังจะโดนเล่นงานจากวิกฤติสภาพอากาศ ต้องแสดงจุดยืนต่อต้านประเทศร่ำรวยที่ไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของในโลกด้วยซ้ำ

คัตเชนโก กล่าวว่า ในขณะที่ประชาชนของประเทศต้องทนทุกข์กับผลที่ตามมาอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การประชุม COP 3 ครั้งล่าสุด กลับดำเนินไปแบบวนไปเวียนมา และไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศเกาะเล็กๆ อย่างปาปัวนิวกินี ทั้งนี้ปาปัวนิวกินีจะส่งคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่รัฐชุดเล็ก แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดจะเข้าร่วมการเจรจาระดับสูง

แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ ของการกอบกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศในตอนนี้ คือ โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะเขาเคยให้สัญญาว่าจะให้สหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก “ความตกลงปารีส” ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงชะลอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากที่ทรัมป์เข้ารับรับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2025 จะมีท่าทีกับเรื่องนี้อย่างไร ในการประชุม COP29 จึงยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไบเดนอยู่

แม้จะเป็นเช่นนั้น การเข้ามาของทรัมป์ ก็น่าจะทำให้ความหวัง และความทะเยอทะยานในการแก้ปัญหาเรื่องภาวะโลกรวนของประเทศอื่นๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เลวร้ายที่สุดอาจทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่มีแรงในการต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ถอนตัวออกจากข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่เคยทำไว้ในอดีต

ดังที่มาร์ค ฟานฮูเคเลน ทูตด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรป ผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2019-2023 กล่าวไว้ว่า “ผู้คนจะพูดว่า ขนาดสหรัฐที่ปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับสองของโลก มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดยังไม่มีเป้าหมายจะทำเรื่องพวกนี้เลย แล้วเราจะทำไปทำไมกัน”

การเข้ามาของทรัมป์อาจจะทำให้นโยบายการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกผันผวนอย่างรุนแรงในอนาคต จนท้ายที่สุดแล้วโลกของเราอาจจะเปลี่ยนไป จนไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม เว้นแต่ทั้งโลกร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

 

ที่มา: Euro NewsReutersThe GuardianThe Week

กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/environment/1153356

 

 

 

Visitors: 1,430,155