ตำนานเบื้องหลังตรุษจีนและพิธีการไหว้เจ้า

ตำนานเบื้องหลังตรุษจีนและพิธีการไหว้เจ้า

มาดูกันว่าความเป็นมาของตรุษจีนคืออะไร มีวิธีไหนที่จะบูชาเทพเจ้าให้โชคดีรับตรุษจีนบ้าง!

ในสมัยก่อนนั้นชาวจีนได้ฉลองตรุษจีนกันมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มฉลองตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็มีนิทานเก่าแก่เล่าถึงอสูรกายที่ชื่อว่า ‘เหนียน’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลนี้ หมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกอสูรกายเหนียนเข้าโจมตีอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งวันนึงชาวบ้านได้รู้ถึงวิธีปราบอสูรกายตนนี้

 

การฉลองตรุษจีนก็คือการปราบอสูรกายให้กลัวไม่กล้ามาทำร้าย ตั้งแต่การจุดประทัด สวมเสื้อผ้าและตกแต่งบ้านด้วยสีแดง แห่มังกร ตีกลอง ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วการฉลองตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูเริ่มเพาะปลูก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากเฉลิมฉลองแล้วยังมีการไหว้ขอพรจากเทพเจ้าด้วย

ในพิธีการไหว้ของวันตรุษจีนนั้นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่จากไป (บางคนอาจไหว้ให้ผีบ้านผีเรือนและสัมภเวสีด้วย) การจัดโต๊ะไหว้ก็จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะการไหว้เทพเจ้ากับบรรพบุรุษที่สำคัญมาก ต้องวางโต๊ะหน้าแท่นบูชาและมีอาหารคาวหวานพร้อมสรรพ

อาหารที่ต้องมีในพิธีไหว้ก็ต้องประกอบไปด้วย เนื้อสัตว์ ได้แก่ เป็ด ไก่ หมู หรือจะมีซีฟู้ดประกอบเพิ่มไปด้วยก็ได้ เช่น ปลา กุ้ง ปู แต่ละอย่างจะมีความหมายที่เป็นสิริมงคล เป็ดและไก่เป็นตัวแทนความสง่างาม ก้าวหน้า หมูแทนความอุดมสมบูรณ์ และยังต้องมีอาหารคาวหวานกับผลไม้ในการไหว้

ผลไม้ที่นิยมใช้ไหวก็ได้แก่ กล้วย สัปปะรด ส้ม องุ่น ลูกพลับ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ดี และที่ขาดไม่ได้เลยคือขนมมงคล ได้แก่ ขนมเข่ง ที่ใช้ไหว้มาตั้งแต่สมัยโบราณ, ขนมเทียน, ถ้วยฟู และบัวลอย ที่มีความหมายถึงความรักใคร่กลมเกลียวสามัคคีของสมาชิกทุกคนในครอบครัว

นอกจากนี้ยังมีการทำอาหาร เช่น ผัดหมี่ ที่สื่อถึงชีวิตที่ยืนนาน, เกี๊ยว ที่สื่อถึงลาภยศและเงินทอง ฯลฯ ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างดีพร้อมข้าวสวยและน้ำดื่มกับน้ำชา เมื่อไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษแล้ว จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง จัดงานฉลองกินเลี้ยงและแจกอั่งเปาในซองสีแดงให้ลูกหลาน

นอกจากนี้ยังมีการไหว้ขอพรจากเทพเจ้าชื่อดังแห่งวันตรุษจีนอย่าง ‘ไฉ่ซิงเอี๊ย’ ซึ่งความจริงแล้วเทพตนนี้นั้นมาทีหลังเทพตนอื่น ไม่แน่ชัดว่าเรื่องราวของเทพเจ้าตนนี้นั้นมีที่มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีการคาดเดาว่าเทพตนนี้มีมาตั้งแต่เมื่อการค้าเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมของชาวจีนโบราณ


ในวันตรุษจีนนั้นนิยมไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย วิธีไหว้ก็คือไหว้เทพเจ้าตนนี้ในช่วงเวลาห้าทุ่มเป็นต้นไปในคืนวันตรุษจีน เตรียมของไหว้และผลไม้ห้าสี ที่นิยมส่วนมากก็คือ องุ่น กล้วย สาลี่ ส้ม แอปเปิ้ล รวมถึงกับข้าวห้าอย่าง (เจฉ่าย) ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดหูหนู ดอกไม้จีน วุ้นเส้น และฟองเต้าหู้

วันตรุษจีน นั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี พิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีนนั้น มีมานานกว่าศตวรรษ (100 ปี) จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร

ตรุษจีนนั้นเป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูกประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เป็นต้น

ที่มาของวันตรุษจีน เกิดจากการจัดขึ้น เพื่อตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืนผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า "วันตรุษจีน"

อาหารวันตรุษจีน ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร

เสื้อผ้าวันตรุษจีน การใส่เสื้อผ้าสีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคล เป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

อั่งเปา

สัญลักษณ์ที่ทุกคนทราบดีในวันตรุษจีนคือ อั่งเปาสีแดง โดยมีธรรมเนียมคือ ผู้ใหญ่ที่ผ่านการแต่งงานมาและทำงานมีรายได้แล้ว จะมอบซองสีแดง(ที่มีเงินจำนวนหนึ่งข้างใน) ให้กับเด็กๆที่มีอายุต่ำกว่า หรือยังไม่ได้ทำงาน พร้อมกล่าวสวัสดีปีใหม่ ซึ่งสีแดงของอั่งเปานั้นมีความหมายถึงโชคดี และเงินที่ใส่ในซองอั่งเปานั้น มักจะมีจำนวนเป็นเลขนำโชคของจีนนั่นคือเลข 8

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน

ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่

  1. หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี
    ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฏิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน

  2. การแต่งกายและความสะอาด
    ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผม เพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี

  3. วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ
    สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล

  4. บุคคลแรกที่พบ
    บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี

  5. การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ
    การเข้าห้องนอนผู้อื่นในวันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้ายมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยหรือปกติ ก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก

  6. ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษ
    เพราะชาวจีนเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี

ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมา แต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือและปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีนตระหนักดีว่า การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อน เป็นการแสดงถึงความเป็นครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน



Visitors: 1,213,504