ยุ่งก็แก่อย่างมีคุณภาพได้! วิจัยชี้ออกกำลังกายน้อยลดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้พอๆ กับออกกำลังกายเป็นประจำ

ยุ่งก็แก่อย่างมีคุณภาพได้! วิจัยชี้ออกกำลังกายน้อยลดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้พอๆ กับออกกำลังกายเป็นประจำ

 

ยุคที่เราต่างทำงานกันเป็นบ้าเป็นหลัง ไหนจะต้องแบกแล็ปท็อปกลับไปทำงานต่อที่บ้าน ไหนจะเจอชั่วโมงรถติด แค่คิดก็ไม่รู้ว่าจะเอาเวลาไหนไปออกกำลังกาย

 

ล่าสุดจะเรียกว่าเป็นข่าวดีที่มนุษย์หัวฟูฟังแล้วใจชื้นขึ้นมาก็ได้ เพราะผลวิจัยจาก British Journal of Sports Medicine เผยว่าคนที่ออกกำลังกายแค่ช่วงวันหยุดก็สามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะ สมองเสื่อม ได้พอๆ กับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

ผลวิจัยนี้เกิดจากการศึกษากลุ่มคนเมืองเม็กซิโกทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย (1-2 วันต่อสัปดาห์) ซึ่งในการวิจัยนี้ได้รับการนิยามว่าเป็นกลุ่มที่ออกกำลังกายช่วงวันหยุด, กลุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำ (3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์), กลุ่มที่ออกกำลังกายทั้ง 2 รูปแบบ และกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเลย โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ครั้ง คือ ช่วงปี 1998-2024 และ 2015-2019

 

ซึ่งการศึกษาในครั้งที่ 2 ใช้ Mini Mental State Examination (MMSE) หรือแบบประเมินภาวะ สมองเสื่อม มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือ โดยมีจุดตัดคะแนนอยู่ที่ 22 จาก 30 คะแนน

 

ผลสำรวจจาก 10,033 คนที่มีอายุเฉลี่ย 51 ปี นั้นพบว่ามีผู้ไม่ออกกำลังกาย 7,945 คน, ผู้ที่ออกกำลังกายช่วงวันหยุด 726 คน, ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ 1,362 คน และผู้ที่ออกกำลังกายทั้ง 2 รูปแบบ 2,088 คน

 

ตลอดระยะเวลา 16 ปีในการติดตามผล นักวิจัยพบว่า 2,400 เคสมีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย หรือ Mild Cognitive Impairment (MCI) โดยแบ่งเป็น 26% จากกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกาย, 14% จากกลุ่มที่ออกกำลังกายเฉพาะวันหยุด และ 18.5% จากกลุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

เมื่อนำปัจจัยเรื่องอายุ, การสูบบุหรี่, การนอน, การกินดื่ม มาคำนวณด้วยพบว่าเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ออกกำลังกายแล้ว กลุ่มที่ออกกำลังกายเฉพาะวันหยุดมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะ MCI น้อยกว่า 25% ส่วนกลุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีความเสี่ยงน้อยกว่า 11% ในขณะกลุ่มที่ออกกำลังกายทั้ง 2 รูปแบบมีความเสี่ยงน้อยกว่า 16%

 

หลังการประเมินด้วย MMSE พบว่า 2,856 เคสมีภาวะ MCI ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายแล้ว กลุ่มที่ออกกำลังกายเฉพาะวันหยุดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ MCI น้อยกว่า 13% ในขณะที่กลุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำและกลุ่มที่ออกกำลังกายทั้ง 2 รูปแบบอยู่ที่ 12%

 

จากการศึกษาทั้งหมดนี้นักวิจัยสรุปได้ว่าเราสามารถลดเคสที่มีภาวะ MCI ได้ถึง 10% หากกลุ่มคนวัยกลางคนหันมาออกกำลังกายอย่างน้อย 1-2 ครั้งหรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ อีกทั้งเป็นการชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายน้อยก็ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะ MCI ได้

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงอีกกรณีศึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้มีเครื่องการันตีว่าการออกกำลังกายจะสามารถรักษาอาการสมองเสื่อมได้ทั้งหมด แต่เชื่อเถอะว่าการขยับตัววันละนิดก็ยังดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย จริงไหม?

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง:

 

ที่มา : https://thestandard.co/life/light-exercise-reduces-dementia-risk-study/

 

 

Visitors: 1,372,265