เมื่อ'วัคซีนโควิดในเด็ก'ยังไม่มี ผู้ใหญ่ต้องดูแลเด็กอย่างไร
เมื่อ'วัคซีนโควิดในเด็ก'ยังไม่มี ผู้ใหญ่ต้องดูแลเด็กอย่างไร16 พฤษภาคม 2564 | โดย กนกพร โชคจรัสกุล
เท่าที่ปรากฎ เด็กที่ติดเชื้อโควิดอายุน้อยที่สุด คือ 2 เดือน แม้อาการไม่หนัก แต่ปัญหาคือ เมื่อติดเชื้อแล้ว ใครจะดูแล และตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เด็กติดเชื้อ ครอบครัวต้องทำอย่างไร
"ตอนนี้กำลังมีการวิจัยวัคซีนในเด็ก แต่ต้องมีปริมาณหลักล้านโดสขึ้นไป เพื่อศึกษาผลกระทบว่า มีอะไรที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั่วโลกมีการใช้วัคซีนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ผ่านมา 5 เดือนใช้วัคซีนไป 1,000 ล้านโดส ส่วนในไทยเริ่มใช้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์-4 พฤษภาคม 2564 ฉีดไป 1,573,075 ราย ถ้าจะฉีดให้ทัน ต้องฉีดให้ได้15 ล้านโดส/เดือน หรือ 10 เท่าจากที่ทำอยู่ ตอนนี้แต่ละวันฉีดได้ 60,000 โดส/วัน ควรฉีดให้ได้ 500,000 โดส/วัน เพื่อครอบคลุมประชากรเร็วที่สุด" รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ความจำเป็นของวัคซีนในงานประชุมวิชาการ โควิด-19 ในเด็ก ตรวจ-รักษา-ป้องกัน Pediatric COVID-19 Test-Treat-Prevent ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เด็กไทยติดโควิดแค่ไหน อ.ดร.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงสถานการณ์ในโรงพยาบาลจุฬาฯว่า ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเด็กติดเชื้อโควิดมากขึ้น 2.5 % นอนโรงพยาบาล 0.8 % นอนในไอซียู แต่เสียชีวิตน้อยมาก 0.1 %
และเด็กที่ติดโควิดมีอายุน้อยที่สุดสองเดือน จะมีเด็กทุกช่วงอายุ 0-4 ปี ,5-9 ปี และ10-15 ปี ส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว 84% ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวก็ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ, โรคไต, โรคดาวน์ซินโดรม "ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการน้อย ยกเว้นเด็กที่เป็นปอดอักเสบ, ปอดผิดปกติ มีอาการชัดเจน 5% ส่วนที่มีไข้ แต่ไม่มีอาการทางเดินหายใจมี 4 % มีท้องเสีย 9% ในกลุ่มที่มีอาการมากๆ คือมีไข้ 3 วัน ส่วนอาการอื่นๆ คล้ายโรคคาวาซากิ มีผื่น ตาแดง ปากลอก มือลอก เท้าบวม ที่กังวลคือเด็กอาจช็อคได้ หรือมีความดันต่ำ มีปัญหาเรื่องหัวใจ" คุณหมอวรรษมน บอกว่า มีกรณีเด็กอายุ 8 เดือน ยังกินนมแม่อยู่เลย แม่ไม่ได้ติดเชื้อ แต่เด็กติดจากเด็กอายุ 9 ปีที่เป็นญาติ มีอาการไอ น้ำมูก เพราะเด็กอยู่ด้วยตลอดเวลา 11-18 วัน พอวันที่ 19 มีไอน้ำมูก ทราบผลวันที่ 21ว่าน้องที่มาเล่นด้วยมีอาการ ก็มาตรวจกันทั้งบ้าน พ่อ, พี่สาว, คุณแม่, โดยแม่ยินดีมาดูแลลูก พ่อและพี่สาวแยกไปอยู่อีกห้อง หลังจากนั้นแม่ก็ติดเชื้อจากลูก ต่อมาก็เลยติดเชื้อทั้งบ้าน ส่วนอีกกรณี เด็กอายุ 2 ปี อยู่ในหอผู้ป่วยรวม มีอาการไอ น้ำมูก เนื่องจากพยาบาลในหอผู้ป่วยติดเชื้อ ส่วนแม่ไม่ติดเชื้อ ยินดีมาเฝ้าลูก พอผ่านไป 4 วัน เด็กก็ไม่ค่อยมีอาการแล้ว นอกจากนี้ยังมีกรณี แม่เป็นพนักงานคาราโอเกะอายุ 25 ปี ลูกอายุ 8 เดือน แม่มีไข้ไอน้ำมูก มีเพื่อนในร้านตรวจพบโควิด แม่ก็มาตรวจ แล้วก็แอดมิทเลย เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่มีใครช่วยเลี้ยงลูก เราต้องยอมให้เด็กมาอยู่กับแม่ เด็กก็เริ่มมีไข้ไอน้ำมูกเช่นเดียวกัน "ทั้งหมดที่ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กติดเชื้อแล้วไม่มีใครช่วยดูแล ต้องมาคุยกัน ถ้าเป็นเด็กโตอายุเกิน 10 ขวบ เราจะให้อยู่กับคนอื่น แต่ต้องอยู่ด้วยกันได้ เท่าที่เห็นจำนวนผู้ป่วยเด็กมีเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ ส่วนใหญ่ติดจากครอบครัว ไม่ค่อยมีโรคประจำตัว ไม่ค่อยรุนแรง มีปอดอักเสบ 5 % การดูแลคนไข้เด็กต้องมีครอบครัวช่วยเหลือ หลายโรงพยาบาลแยกพ่อแม่ลูกออกจากกัน ทำให้โรงพยาบาลรับภาระหนัก ควรจะให้เขาดูแลกันเองแบบแฟมิลี่รูม อย่างที่เราทำ" คุณหมอวรรษมน แนะนำ การรักษาในเด็กทำอย่างไร อ.ดร.พญ.สุวพร อนุกูลเรืองกิตติ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้เด็กทุกคนนอนในโรงพยาบาล ส่วนในโรงพยาบาลจุฬาฯ การรักษาทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามอาการ (เขียว,เหลือง,แดง) แล้วใช้หลัก 2 ข้อ 1)ดูกลุ่มอายุ 2)ดูโรคประจำตัว เช่น หัวใจ, ปอด, โรคอ้วน (ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม BMI เกิน 35) มีการประเมิน ให้ปั่นจักรยานอากาศ, เดินไปเดินมา 3-6 นาที หรือทดสอบให้ลุกนั่งใน 1 นาที ปกติทำได้ 20-30 ครั้ง เทียบสถิติก่อนและหลังถ้าต่างกัน 3% ขึ้นไปถือว่าผิดปกติ แต่มีข้อห้ามว่า ถ้าใครมีอาการไม่คงที่ ไม่แนะนำให้ทำ
"ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อ 80% มีอาการน้อย ก็รักษาตามอาการ ถ้าอาการรุนแรงก็ต้องประเมินว่าต้องให้ออกซิเจนหรือเปล่า เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เราเจออยู่ 6 เคส หลังจากรักษาหายแล้ว ถ้ายังมีอาการ 4-12 สัปดาห์เรียกว่ามีอาการต่อเนื่อง (Ongoing Symptomatic ) ถ้ามีอาการเกิน 3 เดือนเรียกว่า Post Covid -19 syndrome ส่วนโอกาสที่เจอหนึ่งเดือนไปแล้ว 10-20 % ในเด็กโตจะเท่าๆ กับผู้ใหญ่"
วัคซีนเด็ก จะมาเมื่อไร คุณหมอธันยวีร์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนในเด็ก จึงต้องหาวิธีอื่นมาป้องกันก่อน ทั่วโลกกำลังศึกษาวิจัยวัคซีนในเด็ก แต่ต้องทำออกมาหลักล้านโดสขึ้นไป ตอนนี้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นตัวเดียวที่อนุมัติให้ใช้ครั้งแรกอายุ 16 ปีขึ้นไป ประเทศไทยกำลังขึ้นทะเบียนจัดวัคซีนกลุ่มนี้มาให้เด็กวัยรุ่น "มีการศึกษาในกลุ่มเด็ก 2,000 กว่าคน กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดป่วยไป 18 ราย กลุ่มที่ฉีดไม่มีใครป่วยเลย และมีภูมิต้านทานสูงถึง 1,239 สำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน-12 ปียังอยู่ในระหว่างการวิจัย ส่วนวัคซีนโมเดอร์น่า ก็มีการศึกษาในกลุ่มเด็ก อายุ 12-18 ปี ซึ่งได้ฉีดไปเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญต้องดูว่า ประเทศนั้นเชื้อสายพันธุ์อะไรระบาด เพราะประสิทธิภาพอาจจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย การฉีดวัคซีนจะดูใน 3 ประเด็น คือ 1)ฉีดแล้วภูมิคุ้มกันขึ้นหรือเปล่า 2)ฉีดแล้วป้องกันการติดต่อกันได้หรือเปล่า 3)ฉีดแล้วมีไข้ ปวดแขน ต่อมน้ำเหลืองโตไหม ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเราฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ในอเมริกามีเด็กติดเชื้อ 3 ล้านคน เสียชีวิต 300 ราย ในประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาดในชุมชนอย่างหนัก 90% เด็กติดจากคนในครอบครัว เด็กไม่ใส่แมส และยังไม่มีวัคซีน วิธีการป้องกันเด็กไม่ให้ติดจะต้องใช้ Cocoon Effect คือคนที่อยู่รอบๆ ตัวเขาจะต้องมีภูมิคุ้มกัน ต้องไม่เป็นโรค และนำโรคมาสู่เด็ก ไม่งั้นเด็กก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ วิธีนี้สามารถนำไปใช้ได้กับการดูแลผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่รับวัคซีนไม่ได้" นอกจากนี้คุณหมอธีนยวีร์ บอกว่า วัคซีนซิโนแวค มีการใช้ไป 260 ล้านโดสแล้ว ประเทศชิลีใช้ไปเกิน 10 ล้านโดส โดย 2.6 ล้านโดสใช้กับคนอายุเกิน 60 ปี ตอนขึ้นทะเบียน อย.ให้ใช้ในอายุ 18-59 ปี แต่ถ้ามีการระบาดหนักก็นำมาใช้ได้
"การระบาดของโควิดในประเทศชิลีเป็นสายพันธุ์อังกฤษกับบราซิล เมื่อฉีดซิโนแวคแล้วมีประสิทธิภาพ 67% ป้องกันการตายได้ 80% ส่วนโควิดในประเทศบราซิลเป็นสายพันธุ์บราซิล เมื่อใช้ซิโนแวคมีการกลายพันธุ์ทำให้มีประสิทธิภาพ 50% ซิโนแวคได้ศึกษาวิจัยในเด็กอายุ 12-17 ให้ใช้ medium dose 600 su ส่วนอายุ 3-12 ปีใช้ low dose 300 su ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ข้อมูลประเทศอังกฤษในช่วง 3 เดือน ฉีดไปล้านกว่าคน ไฟเซอร์ใช้กับคนอายุมาก หลังจากฉีดไป 14 วันภูมิคุ้มกันจะเริ่มขึ้น และหลังจากฉีดไป 28 วัน ลดอัตราการนอน รพ.ได้ 91% และ 88% วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ประชากรอังกฤษ 365,447 ครอบครัวที่ฉีดแล้ว ยังมีคนในครอบครัวติดเชื้อในอัตรา 5.7% ดังนั้นถ้าคนในบ้านฉีดวัคซีน จะช่วยลดการป่วยในเด็กได้ เด็กกลุ่มเสี่ยงคืออายุน้อยกว่า 1 ปี หรือมีโรคประจำตัว แม้ว่าจะมีอาการดีมาก ก็ต้องติดตามอาการ ส่วนเด็กที่หายจากโควิดแล้ว ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องไป Swab ซ้ำ เพราะไม่มีการรักษาจำเพาะอะไร สรุปว่าการดูแลเด็ก ครอบครัวและคนดูแลมีส่วนสำคัญ ถ้าเด็กสามารถใส่แมสได้ก็แนะนำ แต่ถ้าต่ำกว่า 2 ปี แนะนำให้คนรอบๆ ใส่แมส เพื่อลดโอกาสส่งเชื้อมาที่เด็ก ด้วยวิธี Cocoon strategies ฉีดวัคซีนให้คนรอบๆ ไม่ได้เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เพื่อคนในครอบครัว และสังคมด้วย สิ่งที่เราต้องทำในตอนนี้คือ ทุกคน ควรฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด เพื่อหยุดยั้งการระบาดและการกลายพันธุ์ ช่วยลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เราไม่มีเวลารออีกต่อไปแล้ว"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/938300
|