ทำความรู้จัก 5 เอเลี่ยนสปีชีส์ ตัวท็อปของโลก โผล่ที่ไหน หายนะเกิดที่นั่น

ทำความรู้จัก 5 "เอเลี่ยนสปีชีส์" ตัวท็อปของโลก โผล่ที่ไหน หายนะเกิดที่นั่น

เผยโฉม 5 "เอเลี่ยนสปีชีส์" ตัวท็อปของโลก พวกมันมีต้นกำเนิดมาจากที่ไหนกันบ้าง แล้วทำไมถึงกลายเป็นสัตว์รุกราน ที่ชวนปวดหัวมากที่สุด สปริงนิวส์ชวนทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีรายงานของ IPBES หน่วยงานด้านนิเวศวิทยาของสหประชาชาติ เตือนว่า การรุกรานทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ กำลังคุกคามชีวิตต่างๆบนพื้นโลก

สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ ผลผลิตทางการเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยชี้ว่า ปัจจุบันนี้มีเอเลี่ยนสปีชีส์มากถึงราว 37,000 สายพันธุ์ที่กำลังบุกรุกพื้นที่ใหม่ ๆ อยู่

ซึ่งมันยังส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรงขึ้น และเข้าไปทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่เป็นพืชและสัตว์ท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ

เมื่อปี 2019 เคยมีการสำรวจผลกระทบทางการเงินของการที่เอเลี่ยนสปีชีส์บุกรุกพื้นที่ใหม่ๆทั่วโลก พบว่ามีความเสียหายมากถึง 423,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานของสหประชาชาติก็เตือนว่า นี่อาจจะเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก

ตัวอย่างสายพันธุ์ชนิดต่างถิ่นที่ทำอันตรายสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น

  • ปลาสิงโต

เป็นปลาสวยงามที่เต็มไปด้วยพิษร้าย มีถิ่นกำเนิดในอินโด-แปซิฟิก แต่มันกลายเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในฝั่งทะเลด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะชนิด ปลาสิงโตปีกจุด (P. volitans) บริเวณแคริบเบียน, ชายฝั่งฟลอริดา

ปลาสิงโต Credit wikipedia / Karelj

ปลาสิงโตสามารถที่จะขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติ โดยวางไข่ในป่าชายเลน ปลาหนึ่งตัวภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที สามารถกินลูกปลาหรือปลาขนาดเล็กไปได้ถึง 20 กว่าตัวเลยทีเดียว 

กระเพาะอาหารของปลาสิงโตสามารถขยายออกได้ถึง 30 เท่าของขนาดกระเพาะปกติ นอกจากนี้แล้วปลาสิงโตยังเป็นปลาที่มีความสามารถในการสืบพันธุ์สูง ปลาสิงโตตัวเมียสามารถวางไข่ได้ถึงปีละ 2 ล้านฟอง

การแพร่ระบาดของปลาสิงโตที่มหาสมุทรแอตแลนติกพบมีปลาสิงโตแทบทุกพื้นที่ จนมีการกำจัดที่บาฮามาสโดยรัฐบาลที่นั่นเพื่อควบคุมปริมาณในแนวปะการัง รวมถึงมีการแข่งขันจับมารับประทานเป็นอาหาร

 

  • แตนยักษ์เอเชีย

มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย แต่ขณะนี้กำลังกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในสหรัฐฯและยุโรป โดยแตนยักษ์เอเชียจะมีขนาดเล็กกว่าแตนท้องถิ่นของยุโรป มันไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่มันกำลังไล่ล่าทำร้ายชีวิตผึ้งจำนวนมาก

แตนยักษ์เอเชีย Credit wikipedia / Yasunori Koide

รายงานระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว พบเห็นจำนวนประชากรแตนยักษ์เอเชียเพิ่มมากขึ้นในอังกฤษ โดยหน่วยงานดูแลผึ้งของอังกฤษได้ออกมาชี้ว่า พบเห็นปัญหาแตนยักษ์เอเชียทำลายรังผึ้งใน 56 พื้นที่ทั่วประเทศ

โดยส่วนใหญ่ จะพบในเมืองเคนท์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงลอนดอนมากนัก ด้านหน่วยงานด้านผึ้งแห่งชาติของอังกฤษได้ประกาศเตือนระดับสูง เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ สื่อของเบลเยียมก็รายงานว่า พบรังของแตนยักษ์เอเชียเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ด้วย

  • กระรอกเทา

เป็นสัตว์พื้นเมืองของแถบอเมริกาเหนือ โดยเริ่มพบเห็นกระรอกเทาถูกนำเข้ามาในอังกฤษครั้งแรกช่วงศตวรรษที่ 19 แต่มันทำให้เกิดปัญหารุกรานชีวิตของกระรอกแดง ซึ่งเป็นสัตวท้องถิ่นของอังกฤษ

กระรอกเทา Credit wikipedia / BirdPhotos.com

เนื่องจากพวกมันมีรูปแบบการหากินที่ใกล้เคียงกัน แต่กระรอกเทาสะสมอาหารเก่งกว่า แม้จะไม่มีรายงานว่า สัตว์สองสายพันธุ์มีการก้าวร้าวใส่กัน แต่กระรอกเทาก็ทำให้กระรอกแดงเกิดการไร้ที่อยู่อาศัย

  • หอยนางรมแปซิฟิก

มีถิ่นกำเนิดในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในเอเชีย กลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในนอร์เวย์ โดยปัจจุบันมีการไปพบอยู่หลายพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งตั้งแต่เมืองเอิสต์โฟลด์ไปจนถึงเมืองฮอร์ดาแลนด์

หอยนางรมแปซิฟิก Credit Institute for Marine Research

หอยนางรมชนิดนี้เข้ามายังนอร์เวย์ผ่านการนำมาเลี้ยง และผ่านกระแสน้ำทะเล แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลริมชายฝั่ง

การบริโภคหอยนางรมแปซิกทำให้เกิดความเป็นกังวลเกี่ยวกับสารแปลกปลอม พิษจากสาหร่ายและเชื้อโนโรไวรัส ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รับประทานสดๆ

  • คางคกอ้อย

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เป็นคางคกขนาดใหญ่ ถูกนำเข้ามาในออสเตรเลียเมื่อปี 1935 เพื่อควบคุมสัตว์ที่มารังควานผลผลิตทางเกษตร

คางคกอ้อย Credit Queensland Government

แต่กลับไม่ได้ผล เพราะพวกมันปรับตัวได้เป็นอย่างดีเข้ากับสภาพแวดล้อมของออสเตรเลียและเริ่มขนาดพันธุ์อย่างรวดเร็ว

คางคกอ้อยทำให้จำนวนประชากรแมลง กบ สัตว์เลื่อยคลานและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆประจำถิ่นลดลง ที่สำคัญพวกมันยังมีพิษอีกด้วย

 

ที่มา: BrusselstimesQueensland GovernmentDaily Mail

 

 

Visitors: 1,327,127