สภาพร่างกายของคนเรา เมื่อเดินทางมาถึงอายุ 40 ปี เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง คำตอบคือ โดยทั่วไปเมื่ออายุ 40 ปี หลายคนจะเริ่มมีประสิทธิภาพการมองเห็น และการได้ยินลดลง ผิวหนังแห้ง มีความรู้สึกร่างกายอ่อนแอกว่าเดิม บางคนเริ่มกลั้นปัสสาวะได้ลดลง และสำหรับผู้หญิงบางคน ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ต้องเจอกับอาการร้อนวูบวาบ และนอนหลับยาก
งานวิจัยของสถาบันด้านสุขภาพของต่างประเทศหลายแห่ง ที่เว็บไซต์ healthdigest.com สรุปให้เห็นว่า สภาพร่างกายของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออายุ 40 ปี ที่น่าสนใจ ดังนี้
- สภาพของมวลกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งความจริงแล้วร่างกายของมนุษย์เราเสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอถึงอายุ 40 ปี อย่างเช่น ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ยมวลกล้ามเนื้อของเราจะลดลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ในทุก 10 ปี บางคนอาจเจอกับภาวะการสูญเสียมวลของกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สำหรับวิธีการป้องกันหรือช่วยชะลอภาวะการสูญเสียของมวลกล้ามเนื้อตามอายุที่มากขึ้นคือ การกินโปรตีนเพียงพอ และการออกกำลังกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
- ผิวแห้ง และมีริ้วรอย นั่นคือสภาพภายนอกของทางร่างกายที่เริ่มชัดเจน และยังมีขอบตาดำ ถุงใต้ตาชัดขึ้น และรอยตีนกา เพราะความชุ่มชื้นใต้ผิวหนังลดลง และหลายคนใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ในแบบที่ได้พาร่างกายและผิวหนังเจอกับแสงแดด และสภาพอากาศมาหลายฤดูกาล ในช่วงวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ นี้ การทาครีมบำรุงผิวหลังล้างหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ และที่จำเป็นยิ่งกว่า คือการทาครีมกันแดด
- โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ คือหนึ่งในโรคฮิต เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 40-60 ปี บางคนอาจมีอาการที่ข้อมือข้างเดียว แต่บางคนเป็นทั้งสองข้าง บางคนปวดชาไปจนถึงฝ่ามือ และนิ้วโป้ง นอกจากเป็นเพราะอายุมากขึ้นแล้ว ยังเป็นเพราะมีการใช้มือในท่าเดิมนานๆ เช่น ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์นาน แต่ในบางกรณีอาจเกิดจากโรคประจำตัว อย่างเบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
...
- ผมบางลง เพราะผมของเราไม่เหมือนเดิม หลายคนนอกจากพบผมสีขาว หรือผมหงอกเริ่มมาเยือนตอนอายุประมาณ 30 ปี หรือบางคนเริ่มตอนประมาณ 40 ปี แต่ที่แน่ๆ คือพออายุ 40 ปี จะสังเกตได้ว่าผมบางลง โดยผู้ชายจะสังเกตเห็นผมบางลงเร็วกว่า คือเริ่มเมื่อตอนอายุตั้งแต่ 35 ปี ส่วนผู้หญิงอาจเริ่มสังเกตได้ตอนอายุเกือบ 50 ปี
- ประจำเดือนไม่เหมือนเดิม ผู้หญิงหลายคนเมื่ออายุมาถึง 40 ปี สิ่งที่เริ่มเห็นความต่างคือ การมาของประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไป เช่น บางคนรอบเดือนมานานขึ้น บางคนมาไม่กี่วัน ก็หมดเร็วกว่าเดิม หรือมาน้อยกว่าเดิม หรือมากกว่าเดิม มาไม่สม่ำเสมออาจมีเว้นบางเดือน บางคนยังมีอาการร้อนวูบวาบ ซึ่งเป็นสัญญาณของการใกล้หมดประจำเดือน
- อาการสมองล้า เช่น ขี้ลืม สมาธิไม่ดี ซึ่งสำหรับผู้หญิงอาจเป็นเพราะวัยทอง และทั้งผู้ชายผู้หญิงเกิดจากสาเหตุจากความเครียดและนอนไม่หลับ
- ฟันและเหงือก แข็งแรงลดลง เพราะเซลล์ต่างๆ ซ่อมแซมตัวเองได้ช้าลง เหงือกก็บางลง
- การกลั้นปัสสาวะได้ลดลง เพราะภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นคุณแม่ และใกล้วัยทอง จะเสี่ยงมีอาการนี้มากขึ้น โดยจะสังเกตได้ว่าเมื่อไอจาม หรือออกกำลังกายอาจมีอาการปัสสาวะเล็ด หรือเมื่อปวดปัสสาวะจะกลั้นไม่ไหว และต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นได้ง่ายในกลุ่มที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งอาการไม่รุนแรง และรุนแรง เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดสีข้าง ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์รักษา
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นง่าย เพราะเมื่ออายุ 40 ปีแล้ว ระบบการเผาผลาญอาหารก็ลดลง และมีไขมันสะสมได้ง่าย วิธีป้องกันได้ง่ายๆ คือ ลดการกินน้ำตาล ลดอาหารรสหวาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และที่สำคัญอย่าเครียด
- อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจเป็นเรื่องปกติในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ก็ต้องเฝ้าสังเกตอาการ เพื่อดูว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น ข้อเสื่อม ความเสื่อมของหมอนรองกระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และที่สำคัญ หากมีไข้ ปวดหัวบ่อย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีอาการชาที่มือ และเท้า เหนื่อยง่าย ปวดขาไปถึงแผ่นหลังก็ต้องระวัง และควรพบแพทย์
อ้างอิงข้อมูล : healthdigest.com, Harvard Medical School, webmd.com