37 ปีแห่งการปลูกป่าปลูกคน EP.2

 

37 ปีแห่งการปลูกป่าปลูกคน EP.2 จากความหลากหลายทางชีวภาพ สู่ทุกอุตสาหกรรมที่อยากสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน
 
วันนี้เราจะลงลึกไปถึง “รากแก้ว” ของตำราแม่ฟ้าหลวง ความยั่งยืนที่เริ่มจากการปลูกป่า แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ป่า
 
“ความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นบนดอยตุง ไม่ได้แปลว่ามีต้นไม้มากขึ้น แต่หมายถึงทุกสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลอีกครั้ง” ทักษ์ดนัย เผ่าต๊ะใจ เจ้าหน้าที่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าว
 
เมื่อ 30 ปีก่อน ดอยตุงมีป่าเพียง 28% แต่วันนี้มีมากถึง 91% สิ่งที่ทักษ์ดนัยภูมิใจไม่ใช่ตัวเลขบนกระดาษ มันคือการที่ผืนป่าเหล่านี้ให้
“นิเวศบริการ” กลับคืนสู่ชุมชน: น้ำสะอาด, ป่าอาหาร, สมุนไพร และสัตว์ป่าที่หวนคืนมา มูลค่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 12 ล้านบาทต่อปีคือสิ่งที่พิสูจน์ได้
 
“ช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง คือวันที่เราเห็นว่า ผู้ล่ากลายเป็นนักอนุรักษ์ ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยการบังคับ เพราะไม่ว่าคุณจะทำอะไร สิ่งแรกที่ต้องตอบให้ได้คือ 'คนในพื้นที่ได้อะไร' ถ้าคำตอบนั้นจริง คนจะลุกขึ้นมาทำด้วยใจ" ทักษ์ดนัย เผ่าต๊ะใจกล่าวถึงความสำคัญของคนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้
 
ที่ดอยตุง คนกับป่าไม่ใช่ศัตรู แต่คือพันธมิตร และนั่นคือหัวใจที่ทำให้ตำราแม่ฟ้าหลวงไม่ได้หยุดแค่บนภูเขาอีกต่อไป ทักษ์ดนัยเล่าว่า "แนวทางของแม่ฟ้าหลวงน่าจะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายภาคธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อเรื่องความยั่งยืน"
 
ในโลกที่ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น และคนรุ่นใหม่ต่างตั้งคำถามกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากกว่าที่เคย องค์กรที่ยังคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็น “งานอาสาสมัคร” อาจกำลังตามไม่ทันกระแสสังคมของโลกอีกแล้ว
 
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมแล้ว ที่จะเป็นเพื่อนร่วมทาง ไม่ใช่แค่ให้คำแนะนำบนโต๊ะประชุม แต่เป็น ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนที่ลงมือทำได้จริง จากประสบการณ์ที่เคยเปลี่ยนชีวิตคนมาแล้วทั้งชุมชน
เพราะตำราแม่ฟ้าหลวง ไม่ได้เกิดจากการเขียนในห้องประชุม แต่มาจากบทเรียนของคนที่เคยมี “ความไม่มี” เป็นครู และเลือกที่จะลุกขึ้นมาดูแลโลกด้วยสองมือของตัวเอง
 
  
 
     Over 37 years, the Mae Fah Luang Foundation has turned Doi Tung from a barren land into a thriving ecosystem, where forest cover grew from 28% to 91%. Thakdanai Paotajai, Biodiversity Officer, explains that true biodiversity means restoring balance among all living beings, not just planting more trees. The forest now provides essential ecosystem services like clean water, food, herbs, and wildlife, generating over 12 million baht annually for the local community. He shares that real change happens when people become conservationists by choice, not by force, driven by what they can gain through understanding. At Doi Tung, people and forests are allies, and the Mae Fah Luang model is now applicable across industries—from energy and finance to agriculture and fashion. In a world where environmental responsibility is becoming a business imperative, organizations stuck in old mindsets risk being left behind. The Foundation stands ready not just as an advisor, but as a true partner with real-world experience in building sustainable futures.
 
Visitors: 1,516,749