ตั้งสติ! ก่อนให้ข้อมูลใดๆ บนออนไลน์

ตั้งสติ! ก่อนให้ข้อมูลใดๆ บนออนไลน์

 

โลกทุกวันนี้ที่เราติดตามข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต คุยกับเพื่อนผ่านโซเชียลมีเดีย ซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซ    ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแอป และสมัครสมาชิก สมัครใช้บริการต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ และหนึ่งในนั้นคือการสมัครใช้บริการกับธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการสมัครบัตรเครดิต ขอสินเชื่อ ซื้อประกัน  ซึ่งทำให้การขอรับบริการจากธนาคารสะดวก รวดเร็วขึ้นมาก เราชินกับการติดต่อธนาคารในช่องทางใหม่นี้และเกิดความไว้ใจ จนบางครั้งอาจทำให้เราขาดความระมัดระวังในการทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์  จึงเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพใช้ความไว้ใจและความเคยชินหลอกเอาข้อมูลสำคัญส่วนบุคคลไปแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ  คนธรรมดาๆ ก็จะแปลสถานะเป็นเหยื่อด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


ปกติการสมัครใช้บริการผ่านเว็บไซต์ของธนาคารจะมีการขอข้อมูลเบื้องต้นของลูกค้า เช่น ชื่อ-สกุล อีเมลหมายเลขโทรศัพท์เพื่อทำการติดต่อกลับ ซึ่งทำให้มีผู้มีไม่หวังดีใช้วิธีการแบบเดียวกันเพื่อหลอกเอาข้อมูลสำคัญของผู้บริโภค โดยใช้โลโก้ รูปภาพและรายละเอียดผลิตภัณฑ์ของธนาคารไปแสดงบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บธนาคาร และให้ผู้สนใจกรอกข้อมูลสำคัญส่วนตัว  ดังนั้นก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับใครบนเว็บไซต์ ต้องตั้งสติ อย่าหลงเชื่อให้ข้อมูลกับใครง่าย


เทคนิคง่ายๆ ในการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเว็บไซต์นั้นๆ น่าเชื่อถือพอที่เราจะให้ข้อมูลสำคัญของเราได้หรือไม่
 

ดู URL ของเว็บไซต์นั้น URL หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นที่อยู่ในระบบอินเทอร์เนตของเว็บไซต์นั้นๆ โดยสามารถพิจารณาในจุดต่างๆ ดังนี้
 

  • เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือมักจะขึ้นต้นด้วย https:// ซึ่งมีระบบเรียกใช้งานเว็บไซต์ ที่จะระบุว่าการส่งผ่านข้อมูลในเว็บไซต์นี้จะถูกเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย มีการตรวจสอบสิทธิ์ และความสมบูรณ์ของข้อมูลที่สูงกว่า http://
    ซึ่งเว็บไซต์ของสถาบันการเงินแทบทั้งหมดจะใช้ https:// เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสำหรับข้อมูล แต่การดูเพียง https:// อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากมิจฉาชีพบางรายก็มีความพยายามในการลงทุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย

  • ถ้าเรากำลังจะสมัครใช้บริการของหน่วยงานไหน จะปลอดภัยและน่าเชื่อถือกว่าถ้าเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นโดยตรง หรือมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้น เช่น URL เว็บไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์คือ https://www.scb.co.th , URL ของผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards.html

  • บาง URL สามารถบอกได้ว่าเว็บไซต์นั้นจดทะเบียนอยู่ในประเทศใด เช่น https://www.scb.co.th  th = ประเทศไทย, sg = สิงคโปร์,  uk = อังกฤษ,  ch = จีน เป็นต้น
    ในกรณีที่ URL เป็น .com .net หรืออื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุประเทศชัดเจน สามารถเช็กข้อมูลของเว็บไซต์นั้นๆ ได้ที่ https://www.whois.com/whois/ ซึ่งจะบอกได้ว่าเว็บไซต์จดทะเบียนที่ไหน  ใครเป็นเจ้าของ จดทะเบียนมานานแค่ไหนเป็นต้น  ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่อยู่ในต่างประเทศก็อาจตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน

 

   
 

 

มีการขอข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงลึกมากผิดปกติ เช่น เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน, วัน-เดือน-ปีเกิด ให้สงสัยไว้ก่อนว่าไม่น่าจะปกติ เพราะโดยทั่วไปจะขอข้อมูลเบื้องต้นเพียงแค่ ชื่อ-นามสกุล อีเมล หมายเลขโทรศัพท์มือถือเท่านั้น และสำหรับ SCB เอง ปัจจุบันการสมัครใช้บริการใหม่ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของธนาคาร จะไม่มีการขอเลขที่บัตรประชาชนและวัน-เดือน-ปีเกิดแต่อย่างใด

คลิกแล้วไม่ไปไหน    ลองกรอกข้อมูลหลอกๆ แล้วลองคลิกส่งข้อมูลดูว่าเว็บไซต์จะนำเราไปต่อที่ไหน ถ้าคลิกแล้วไม่ไปไหนยังวนอยู่ที่หน้าเดิม ก็ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าไม่น่าเชื่อถือและไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ ของเราบนเว็บไซต์นั้น

 

 

หมั่นตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ   เมื่อมีรายการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที และทุกครั้งที่ได้รับเอกสารรายการการทำธุรกรรมในแต่ละเดือนควรตรวจสอบอย่างละเอียดให้แน่ใจว่าไม่มีรายการแปลกปลอม หากพบรายการที่น่าสงสัย ให้ติดต่อธนาคารหรือบริษัทผู้ให้บริการโดยเร็วที่สุด

 

 

 

วิธีการที่แนะนำข้างบนเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นในการตรวจสอบเท่านั้น สิ่งที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากจากการทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ได้ดีที่สุดคือ มีสติ ระมัดระวัง ตรวจสอบให้ดีทุกครั้งก่อนที่จะให้ข้อมูลสำคัญกับใคร รวมทั้งติดตามข่าวสารเพื่ออัพเดทความรู้ให้เท่าทันโลกอยู่เสมอ เพราะถ้าพลาดพลั้งอาจเสียทรัพย์ ถูกสวมรอยใช้ชื่อหรือถูกนำข้อมูลไปขาย อย่างไรก็ตามการทำธุรกรรมกับธนาคารบนอินเทอร์เนตยังเป็นช่องทางที่สะดวกและปลอดภัยสูง 



ที่มา : https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/calm-down-before-providing-any-information-on-online.html





Visitors: 1,384,318