ปรากฏการณ์น้ำตาลแพงทั่วโลก! ภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์ในอินเดียดันราคาน้ำตาลพุ่ง ไม่เว้นญี่ปุ่นราคาลูกอมสูงขึ้น 11% รวมถึงไทยงัดกฎเหล็กห้ามขึ้นราคา 1 ปี

ปรากฏการณ์น้ำตาลแพงทั่วโลก! ภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์ในอินเดียดันราคาน้ำตาลพุ่ง ไม่เว้นญี่ปุ่นราคาลูกอมสูงขึ้น 11% รวมถึงไทยงัดกฎเหล็กห้ามขึ้นราคา 1 ปี

 

ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ได้แก่ บราซิล ไทย และอินเดีย เผชิญสภาพอากาศแล้งจัดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สะเทือนสินค้าเกษตรโดยเฉพาะวงการน้ำตาลไปทั่วโลก โดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี รวมไปถึงราคาน้ำตาลและฝ้ายในอินเดียสูงพุ่งสูงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับไทย! ไม่รอช้าออกประกาศ ‘น้ำตาลทราย’ เป็นสินค้าควบคุม สกัดขึ้นราคานาน 1 ปี หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาขายปลีกหน้าโรงงานพุ่งพรวด 4 บาทต่อกิโลกรัม

 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติในอินเดียจากภาวะเอลนีโญสะเทือนต่ออุปทานสินค้าเกษตรไปทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำตาล รวมถึงราคาฝ้ายที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และกำลังกดดันภาวะเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่อราคาอาหารในอินเดีย โดยอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลสัดส่วน 20% ของตลาดโลก 

 

 

 

ขณะเดียวกันราคาน้ำตาลดิบตลาดซื้อขายล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี อยู่ที่ 28 เซนต์ต่อปอนด์ และตลาดซื้อขายอยู่ที่ระดับ 26 เซนต์ต่อปอนด์  

 

สำหรับอินเดียปีนี้ถือว่าเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในรอบ 5 ปี ซึ่งอินเดียมีแหล่งปลูกอ้อยในรัฐมหาราษฏระและกรณาฏกะ ส่งผลให้คาดการณ์ว่าผลผลิตตลาดอินเดียจะลดลง 3% ไปจนถึงปีหน้า 

 

อินเดียจ่อขยายเวลาควบคุมการส่งออกน้ำตาลอย่างไม่มีกำหนด 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลผลิตที่ย่ำแย่และราคาที่สูงขึ้น รัฐบาลอินเดียระบุว่า จะขยายเวลาควบคุมการส่งออกน้ำตาลอย่างไม่มีกำหนด 

 

เช่นเดียวกับไทยและผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อื่นๆ ในเอเชียก็ประสบปัญหาสภาพอากาศจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมไปถึงในปีนี้ผู้ซื้อแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อนำเข้าน้ำตาลจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เกิดความกังวลด้านอุปทานตลาดน้ำตาลในขณะนี้

 

ทั้งนี้ ภัยแล้งในอินเดียทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นทุกชนิด เริ่มจากราคาข้าว ที่อินเดียได้สั่งห้ามการส่งออกข้าวขาว ยกเว้นข้าวบาสมาติ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกเกิดความกังวลว่าจะขาดแคลนอุปทาน รวมถึงไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก จนทำให้ราคาข้าวขาวหักมาตรฐาน 5% ของไทยแพงสุดในรอบ 15 ปี หรืออยู่ที่ 648 ดอลลาร์ต่อตัน

 

นอกจากราคาน้ำตาลในอินเดียที่พุ่งสูง ยังมีสินค้าฝ้ายที่พุ่งสูงเช่นกัน โดยสัญญาซื้อขายฝ้ายล่วงหน้าทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ 90.75 เซนต์ต่อปอนด์ และราคาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ 83 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาปรับลดคาดการณ์ผลผลิตฝ้ายของอินเดียลง 2% และส่งออกฝ้ายลดลง 9% 

 

ราคาเค้กในญี่ปุ่นและลูกอมพุ่ง 11.6% 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาน้ำตาลและสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แม้แต่ญี่ปุ่นยังพบว่าราคาเค้กและลูกอมเพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนผลผลิตฝ้ายกระทบต่อราคาเสื้อผ้าและรองเท้าที่เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสินค้าเหล่านี้แซงหน้าดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น 3%   

 

ไทยสกัดพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา ประกาศราชกิจจา ‘น้ำตาลทราย’ เป็นสินค้าควบคุม 

 

ล่าสุดไทยประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 67 พ.ศ. 2566 พิจารณาเห็นว่า สถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้จำเป็นจะต้องเพิ่มเติมการกำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และกำกับดูแลน้ำตาลทรายให้เป็นสินค้าที่ราคาเป็นธรรมและปริมาณเพียงพอ

 

“โดยประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันประกาศ (31 ตุลาคม 2566) เว้นแต่จะมีการออกประกาศใหม่”

 

เล็งเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 2 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมเยียวยาชาวไร่หลังประกาศเป็นสินค้าควบคุม

 

รายงานข่าวระบุว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้หรือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ได้ออกประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาทต่อกิโลกรัม

 

ส่งผลให้น้ำตาลทรายขาวปรับราคามาอยู่ที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 24 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้บรรดาร้านค้าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา แม้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่ให้ปรับขึ้นราคา 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยเองก็ได้รับอานิสงส์จากการงดส่งออกน้ำตาลของอินเดีย แต่ในส่วนของโรงงานและชาวไร่อ้อยนั้น พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ขณะนี้เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลไม่ให้กระทบเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมถึงแนวทางเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 2 บาทต่อกิโลกรัม หลังประกาศเป็นสินค้าควบคุม

 

อ้างอิง: 

 

ที่มา : https://thestandard.co/expensive-sugar-around-the-world/

 

Visitors: 1,405,496