ค่าไฟแพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เพราะอะไร ตรวจสอบเลย

ค่าไฟแพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เพราะอะไร ตรวจสอบเลย

 
 

ค่าไฟแพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เพราะอะไรตรวจสอบเลย

วันที่ 18 เมษายน 2566 ช่วงหน้าร้อนของทุกปี หลายคนที่เห็นบิลค่าไฟฟ้าผิดปกติไปจากเดิม ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2566 สูงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนเท่าเดิม ตัวเดิม แต่ทำไมในบิลค่าไฟฟ้าจึงระบุว่า “จำนวนหน่วยไฟฟ้า” ที่ใช้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างบ้านหลังหนึ่งไม่มีคนอยู่อาศัยแต่เสียบปลั๊กตู้เย็นทิ้งไว้ 1 เครื่อง เดือนกุมภาพันธ์ ระบุจำนวนการใช้ไฟฟ้า 67 หน่วย แต่พอมาเดือนเมษายน กลับเพิ่มขึ้นเป็น 82 หน่วย

อุณหภูมิสูงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความเย็นทำงานหนัก

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) มีการอธิบายปรากฏการณ์ “หน่วยไฟ” เพิ่มว่า หากตรวจสอบแล้วหน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งที่การใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะสาเหตุหลักจะมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่าง ๆ จะ “กินไฟเพิ่ม” เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เท่าเดิมทั้งจำนวนชิ้น และระยะเวลาการเปิดใช้

เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็น หรือทำอุณหภูมิให้เท่ากับที่เราตั้งค่าไว้ แต่พออากาศร้อนขึ้น เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้เท่าเดิมนั่นเอง ส่งผลให้แอร์หรือตู้เย็นทำงานหนัก คอมทำความเย็นจะทำงานตลอดโดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไรอัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่ม

 

ร้อนขึ้น 1 องศา ค่าไฟพุ่ง 3%

ดังนั้น ลองเทียบบิลค่าไฟฟ้าง่าย ๆ โดยย้อนไปดูหน่วยการใช้ไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศจะอยู่ที่ 18-23 องศาเซลเซียส และมาเดือนมีนาคม ที่บางวันอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไป 38-40 องศาเซลเซียส ต่างกันถึง 20 องศาเซลเซียส

ซึ่งหากคำนวณง่าย ๆ ตามสูตรของการไฟฟ้า ที่ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัว ขนาด 12,000 บีทียู เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

อธิบายแบบละเอียดคือ การทดสอบตั้งเครื่องปรับอากาศอุณหภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง จะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากอุณหภูมิภายนอกห้องเพิ่ม 6 องศา เป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14%

ทั้งนี้ จากผลการทดสอบดังกล่าว หากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะพบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง

 

และจากค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หากสมมุติการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นาน 30 วัน จะพบว่าการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 646 บาท และการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 739 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม 93 บาทต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิค่าไฟจะร้อนแรงขึ้นไปขนาดไหน

สำหรับคำแนะนำในการประหยัดค่าไฟคือ ประชาชนต้องหมั่นล้างแอร์ปีละ 2 ครั้ง และเพิ่มการเปิดพัดลมช่วยทำให้อุณหภูมิต่ำลง แอร์จะทำงานหนักน้อยลง

 

 

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1265605

Visitors: 1,429,946