อยากสร้างความทรงจำดีๆ ควรซึมซับผ่านดวงตามากกว่าเลนส์กล้อง เพราะสมองจะจดจำเรื่องราวได้ดีกว่า

อยากสร้างความทรงจำดีๆ ควรซึมซับผ่านดวงตามากกว่าเลนส์กล้อง เพราะสมองจะจดจำเรื่องราวได้ดีกว่า
 
.
ทริปในความทรงจำ โมเมนต์สำคัญกับคนรัก หรือการแสดงสดจาก ศิลปินคนโปรด ความทรงจำเหล่านี้นอกจากจะถูกบันทึกผ่านสายตา ของเราแล้ว เราก็มักจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพความประทับใจเก็บไว้ในอัลบั้มรูปภาพของเราด้วย
.
การถ่ายรูปดีต่อใจเราจริง แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจจะไม่ได้ดีต่อการทำงานของความทรงจำก็ได้
.
เอลิซาเบธ ลอฟตัส (Elizabeth Loftus) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์จิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ (University of California, Irvine) อธิบายว่าการ ‘กด’ ปุ่มถ่ายรูปมากเกินจำเป็น อาจไป ‘กด’ ความสามารถของสมองเรา ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เก็บรักษาความทรงจำของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็อาจทำให้เราลืมความทรงจำบางส่วนในเหตุการณ์นั้นๆ ไป
.
ลอฟตัสอธิบายต่อว่า การถ่ายรูปสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เรารู้สึกว่าโมเมนต์นี้ถูกบันทึกไว้ในอัลบั้มรูปเรียบร้อย จะย้อนกลับไปเปิดดูเมื่อไหร่ก็ได้ และไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นต้องจดจำ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นให้ละเอียด โทรศัพท์มือถือเลยรับบทผู้รับผิดชอบ ในการเก็บรักษาความทรงจำแทนที่จะเป็นสมองเรา
.
อีกสาเหตุหนึ่ง คือ เมื่อเราให้ความสนใจกับขั้นตอนในการถ่ายรูปมากเกินไป อาจทำให้เราไม่สามารถให้ความสนใจกับโมเมนต์ที่อยู่ตรงหน้าได้เท่าที่ตั้งใจไว้ พูดให้เห็นภาพก็คือ สมองเรากำลังช่วยเราหาวิวที่ชอบ มุมกล้องที่ใช่ หรือคิดกังวลว่ารูปที่ถ่ายออกมาจะเบลอไหมอยู่ เลยอาจทำหน้าที่หลักอย่าง การเก็บรักษาความทรงจำได้ไม่เต็มที่
.
อีกหนึ่งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของ ลินดา เฮงเคิล (Linda Henkel) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแฟร์ฟีลด์ (Fairfield University) ที่ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎี ‘Photo-Taking-Impairment Effect’ ก็พบว่า เมื่อให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยถ่ายรูปศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ผลปรากฏว่าพวกเขาสามารถจำวัตถุเหล่านั้น รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ได้น้อยกว่าเมื่อให้พวกเขาสังเกตศิลปวัตถุเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ถ่ายรูป
.
อ่านมาถึงตรงนี้อาจรู้สึกว่า แล้วเราไม่ควรถ่ายรูปเลยเหรอ? ขอตอบให้เลยว่าไม่ใช่ เพราะงานวิจัยที่ อลิซานดรา บาราสช์ (Alixandra Barasch) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) เป็นหนึ่งในผู้จัดทำ พบว่า ในบางสถานการณ์ การถ่ายรูปสามารถช่วยส่งเสริมความทรงจำของเราได้ เธออธิบายเพิ่มเติมว่า “เพราะตอนที่เราซูมเข้า ซูมออก และศึกษาองค์ประกอบของสิ่งที่เราต้องการถ่ายอย่างตั้งอกตั้งใจ ในตอนนี้แหละที่ทำให้ความทรงจำที่เรามี ติดตรึงอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา”
.
และจริงๆ แล้ว “สมองของมนุษย์ไม่ใช่พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่แค่บันทึกความทรงจำเก็บไว้เฉยๆ แต่ยังสามารถจัดการกับความทรงจำเหล่านั้นได้ และสร้างความทรงจำของเราขึ้นมาตามความเชื่อ หรือทัศนคติของตัวเราเอง ความทรงจำของเราส่วนหนึ่งจึงผ่านการกรองด้วยข้อมูลชุดใหม่ที่เราได้รับ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราพบเจอ หรือมุมมองใหม่ๆ ของตัวเราเองมาแล้ว” เฮงเคิล อธิบายเสริม
.
ดังนั้นการระลึกถึงช่วงเวลาดีๆ ในอดีตผ่านรูปภาพหรือวิดีโอที่เราถ่ายเก็บไว้ ก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่บันทึกความทรงจำเราไว้ได้อย่างสมบูรณ์ตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
.
“การถ่ายรูปภาพหรือบันทึกวิดีโอเก็บไว้ ก็เป็นเหมือนพาหนะชั้นดีที่จะพาเราเดินทางกลับไปในช่วงเวลานั้นๆ” ลอฟตัส กล่าว
.
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้ช่วงเวลาที่มีคุณค่ากับเราหายไปไหน ไม่ว่าจะจางหายไปจากความทรงจำของเรา หรือสูญหายไปจากอัลบั้มรูปในโทรศัพท์ของเราก็ตาม
.
ในวันสำคัญของเรา หรือช่วงเวลาพิเศษๆ ครั้งถัดไป ถ้าได้ลองมองไปรอบๆ ใช้เวลาสังเกตใบหน้าที่คุ้นเคยของเหล่าคนใกล้ชิด หรือมองดูตัวเราเองที่กำลังยิ้มกว้างผ่านกระจก และปล่อยให้ตัวเองได้ซึมซับบรรยากาศที่เกิดขึ้นรอบตัว หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกความทรงจำบ้างเป็นครั้งคราว อาจทำให้เราได้ดื่มด่ำกับโมเมนต์ที่เป็นของเราจริงๆ และในขณะเดียวกันก็พอจะมีความทรงจำเก็บไว้ในอัลบั้มรูปภาพบ้าง เป็นที่ระลึกสำหรับวันข้างหน้าเมื่อเรามองย้อนกลับมา
..
 
 
 
Visitors: 1,410,118