ตื่นกำลังดีด้วยคาเฟอีนในชา ที่ให้ผลลัพธ์นานและสม่ำเสมอกว่ากาแฟ

ตื่นกำลังดีด้วยคาเฟอีนในชา ที่ให้ผลลัพธ์นานและสม่ำเสมอกว่ากาแฟ
 
 
.
ตื่นกำลังดีด้วยคาเฟอีนในชา
ที่ให้ผลลัพธ์นานและสม่ำเสมอกว่ากาแฟ
.
ในกาแฟ 1 แก้วจะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 95-200 มิลลิกรัม (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การโพรเสส และการสกัด) และสารคาเฟอีนนี่แหละที่จะทำให้ร่างกายเราตื่นตัว โดยการเข้าไปขัดขวางการทำงานของอะดีโนซีน (adenosine) ซึ่งเป็นสารที่จะถูกหลั่งออกมาเรื่อยๆ หลังจากตื่นนอน เพื่อค่อยๆ ปรับการทำงานของร่างกาย
.
เมื่อร่างกายหลั่งอะดีโนซีนออกมา อะดีโนซีนก็จะไปจับอยู่กับตัวรับสัญญาณของสมอง (receptor) เพื่อบอกสมองว่าเราตื่นมานานเกินไปแล้วนะ ยิ่งอะดีโนซีนไปจับกับตัวรับสัญญาณมากขึ้นเท่าไร เราก็จะยิ่งง่วงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นกลไกปกติที่ช่วยให้มนุษย์เราได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
.
แต่พอเรากินหรือดื่มคาเฟอีนเข้าไป คาเฟอีนที่หน้าตาคล้ายกับอะดีโนซีนก็จะปลอมตัวไปจับกับตัวรับสัญญาณแทน ทำให้เราหลอกสมองให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอนได้ ดังนั้นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนอย่างกาแฟจึงนับเป็นเครื่องดื่มที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์มนุษยชาติอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคสมัยของมนุษย์ออฟฟิศผู้มีชีวิตแบบ 9-to-5
.
อย่างไรก็ตาม การหลอกสมองด้วยคาเฟอีนในกาแฟก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย แม้ว่าตอนที่คาเฟอีนออกฤทธิ์เราจะตื่นตัวหายง่วงก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าร่างกายเราจะไม่หลังอะดีโนซีนเสียเมื่อไหร่ พอคาเฟอีนหมดฤทธิ์แล้ว อะดีโนซีนที่หลั่งทิ้งไว้เต็มไปหมดก็จะจู่โจมสมองอย่างรวดเร็ว ทำให้เราง่วงสุดๆ ภายในเวลา 3-4 ชั่วโมงหลังดื่ม ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า Caffeine crash นั่นเอง (นี่แหละเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณมักง่วงนอนตอนบ่ายๆ ทุกวัน)
.
แม้จะมีข้อเสียที่แก้ไม่หายแบบนี้ แต่กาแฟก็ยังเป็นคาเฟอีนหมายเลขหนึ่งของวัยทำงาน เพราะมันใช้เวลาดูดซึมเพียง 30 นาที เรียกว่ากินปุ๊บ พร้อมออกรบปั๊บ ระดับพลังงานดีดขึ้นสูงได้ทันทีแบบไม่ต้องรอ
.
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงคาเฟอีนจากแหล่งทางเลือกอื่นๆ กันมากขึ้น หนึ่งในทางเลือกเหล่านั้นก็คือชา ซึ่งเป็นเครื่องดื่มอีกอย่างที่อยู่คู่กับอารยธรรมมนุษย์มาแล้วนับพันปี
.
โดยเฉลี่ยแล้ว ชา 1 ถ้วยจะให้คาเฟอีนอยู่ที่ประมาณ 25 มิลลิกรัมเท่านั้น แม้กระทั่งชาที่ให้คาเฟอีนสูงที่สุดอย่างชาดำก็ยังให้คาเฟอีนไม่กิน 90 มิลลิกรัมต่อแก้ว แถมยังใช้เวลาดูดซึมช้ากว่า คืออยู่ที่ 3-6 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้ว ในชายังมีสาร แอล – ธีอะนีน (L-theanine) ที่ช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย จึงเป็นเหมือนยาแก้ของคาเฟอีนไปในตัว การตื่นจากคาเฟอีนในชาจึงช้ากว่า แต่ตื่นตัวนานกว่าและสม่ำเสมอกว่า รวมถึงส่งผลให้เกิดอาการ Caffeine crash ที่นุ่มนวลจนแทบไม่รู้สึกอีกด้วย
.
เพราะฉะนั้นแล้ว ใครที่มีปัญหากินกาแฟเช้าๆ แล้วใจสั่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล แล้วไปง่วงเหงาหาวนอนตอนบ่าย ลองเปลี่ยนมาดื่มชาแต่เช้าตรู่แล้วจิบไปทั้งวันจนพ้นช่วงบ่ายแก่ รวมถึงคอกาแฟทั้งหลายที่มักไป crash เอาตอนบ่ายก็ลองหันมาดื่มชาแทนกาแฟแก้วที่ 2 ของวันดูได้ เผื่อจะได้ความตื่นตัวกระปรี้กระเปร่าที่สม่ำเสมอพอดีๆ ไปตลอดทั้งวัน
.
อ้อ ชาในที่นี้คือชาชงใส ไม่ใช่ชานมไข่มุกนะ!
.
อ้างอิง: Healthline. How Much Caffeine Does Tea Have Compared with Coffee?https://bit.ly/3Sxy99D
Golden Ratio. Is There More Caffeine in Tea VS Coffee. https://bit.ly/3UX9Hjt
August. How Much Caffeine is in Tea? How to Get More or Less Caffeine in Every Cup. https://bit.ly/3rrAB5n
 
 
 
 
Visitors: 1,197,733