รู้จักโรคผมร่วงเป็นหย่อม ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่ส่งผลต่อจิตใจ

โรคผมร่วงเป็นหย่อม ไม่เป็นอันตรายชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามจนส่งผลด้านด้านจิตใจได้

โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดขึ้นกับเส้นขนในบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น คิ้ว หนวด โรคนี้เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ โรคนี้สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

 

Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว

 

Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด

 

Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

 

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจได้ โดยเฉพาะในระดับ AU ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด 

 

 

โรคนี้เกิดกับใครได้บ้าง?

 

เกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิด เฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2%

 


อาการ

 

-ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ 

 

-ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่จะเกิดโรค โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายที่มีขนได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว) 

 

-ผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ 

 

-ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้ ความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

 

-อาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาการทางจิตใจ ผู้ป่วยอาจเกิดความเครียด รู้สึกแปลกแยก หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้าได้

 


สาเหตุ

 

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงแต่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน อย่างไรก็ตาม หากโรคสงบลงแล้วรูขุมขนยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ โรคที่อาจพบร่วมร่วมกับโรคผมร่วงหย่อมได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้ 

 

-พันธุกรรม โดยร้อยละ 20 ของผู้ป่วยผมร่วงหย่อม จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ 

 

-การเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างการติดเชื้อไวรัส

 

-ความเครียด

 

นอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีโรคเส้นผมและหนังศีรษะอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ผมร่วง ซึ่งมักเป็นโรคที่มีความซับซ้อน เป็นกลุ่มโรคที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป

 

 

ที่มา : PPTV
https://www.pptvhd36.com/health/care/370

 

Visitors: 1,216,761