มหัศจรรย์ 4 สมุนไพรไทย ขมิ้นชัน บัวบก ฟักทอง ต้านโรคซึมเศร้า

มหัศจรรย์ 4 สมุนไพรไทย "ขมิ้นชัน บัวบก ฟักทอง" ต้านโรคซึมเศร้า

 

  • ผลกระทบโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง และหลายๆ ปัญหาถาโถมจากสภาพสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดความคิดด้านลบ ผิดหวัง กังวลใจ จนความเครียดสะสม มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

  • มีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน กิจวัตรประจำวัน และการอยู่ร่วมกับคนในสังคม บางคนนอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไม่อยากทำอะไร หรืออยากอาหารมากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

  • กรมสุขภาพจิต ได้คัดกรองสุขภาพจิตประชาชน ระหว่างเดือน พ.ย. 2563 ถึงเดือน ก.ย. 2564 จำนวน 1,010,632 คน พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงจะฆ่าตัวตายสูงสุดในเดือน ก.ค. 2564 ส่วนเดือน ส.ค. 2564 มีภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6%

ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า โรคซึมเศร้า กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากการรักษาด้วยยา หากมีความจำเป็น ยังมีสมุนไพรไทย เป็นอีกทางเลือกมีสรรพคุณน่ามหัศจรรย์สามารถใช้ป้องกัน หรือบรรเทาอาการได้

“ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ” เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้แนะนำ 4 สมุนไพรไทยที่หาได้ง่าย มีสรรพคุณสามารถช่วยต้านโรคซึมเศร้า จากผลการศึกษา เริ่มจากสมุนไพรตัวแรก “ขมิ้นชัน” มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้า เปรียบเทียบการใช้สารสกัดขมิ้นชัน 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าการตอบสนองต่อยาต้านซึมเศร้า 64.7% สารสกัดขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้งยาต้านซึมเศร้า และสารสกัดขมิ้นชัน ให้ผลตอบสนอง 77.8%

 

ปัจจุบันขมิ้นชัน มีทั้งแบบสกัดและแบบผงแห้ง โดยแบบผงแห้ง ซึ่งเป็นยาแคปซูลขมิ้นชัน ให้รับประทาน 2 แคปซูล หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน แต่ข้อควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรระวังการใช้ในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดลิ่ม และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด

 

สมุนไพรตัวที่สอง “บัวบก” ใช้เป็นยามาตั้งแต่โบราณ ทั้งในศาสตร์อายุรเวท และแพทย์แผนจีน สามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้สารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน โดย 1 เดือนแรก เริ่มเห็นผลการรักษา และผ่านไป 2 เดือน เห็นผลชัดเจนขึ้น ช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียด และลดอาการซึมเศร้าได้

 

หรือจะใช้ใบบัวสด นำไปล้างให้สะอาดแล้วคั้นน้ำ รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา ส่วนการใช้ใบบัวบกแห้ง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา หรือ 5-10 กรัม ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นประมาณ 10-15 นาที แล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา ส่วนบัวบกชนิดแคปซูล รับประทานวันละ 2-3 แคปซูล แต่หากจะบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน ขึ้นไป

 

“บัวบกเป็นยาเย็น ไม่ควรรับประทานเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน อย่างกรณีรับประทานสดเป็นกําๆ จะต้องทานบ้างหยุดบ้าง ประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลีย หรือร่างกายอ่อนแอมาก ไม่ควรรับประทาน ถ้ามีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง ท้องอืดแน่นเป็นประจํา ไม่ควรรับประทาน และหญิงให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ มีการศึกษาพบว่าการรับประทานติดต่อกันนานๆ อาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้”

 

 

 

สมุนไพรตัวที่สาม “น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว” มีสาร GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมอง และไขสันหลัง ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายกังวล ทำให้หลับสบาย และสาร N-Acetylserotonin ที่พบตามธรรมชาติของน้ำมันรำข้าว เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารเมลาโทนิน ควบคุมวงจรการนอน ช่วยให้นอนหลับ คลายความเครียดกังวล ต้านซึมเศร้า ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องสมอง และปกป้องเซลล์รับแสงจากจอประสาทตา โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว ชนิดแคปซูล รับประทาน 1 แคปซูล หลังอาหาร เช้า เย็น ส่วนหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน

 

 

สมุนไพรตัวที่สี่ “ฟักทอง” ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า โดยสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีน ทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง จากภาวะซึมเศร้าจะลดลง กลับสู่ระดับปกติ

สรรพคุณของฟักทองและเบต้าแคโรทีน ยังช่วยลดสารก่อการอักเสบในสมอง และสารสำคัญในฟักทองช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า จึงเป็นทั้งอาหารและยา เหมาะสำหรับผู้มีอาการซึมเศร้า โดยรับประทานเป็นผัก หรือประกอบในมื้ออาหารแต่ละมื้อ.

 

ที่มา : Thairath.co.th
ผู้เขียน : ปูรณิมา

 

Visitors: 1,222,119